วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ (หน้าที่นำสืบ) 2/2

ข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นแห่งข้อสันนิษฐานนั้น ตามมาตรา 84/1

มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะ ได้รับประโยชน์ จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว

ข้อสันนิษฐานของกฎหมาย แบ่งออกเป็น

พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ บัญญัติไว้ว่า

1. ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด สังเกตุจากตัวบทกฎหมายจะใช้คำว่า "ให้ถือว่า" เช่น

พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป


(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป

ข้อสันนิษฐานของกฎหมายชนิดนี้ คู่ความจะนำสืบหักล้างหรือให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ข้อสันนิษฐานที่เด็ดขาดนี้จึงอยู่ในกรณีข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ ไม่อยู่ในความหมายของข้อสันนิษฐานตามมาตรานี้

2. ข้อสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาด สังเกตุจากตัวบทกฎหมายจะใช้คำว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า" แต่ในบางมาตรา ก็ไม่มีถ้อยคำบัญญัติเช่นนี้ ซึ่งนักศึกษาต้องใช้ความชำนาญในการพิจารณาจากตัวบทกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ข้อสันนิษฐานเช่นนี้ มีผลให้เป็นการผลักภาระการพิสูจน์ให้ตกแก่คู่ความฝ่ายที่ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ส่วนคู่ความฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานพิสูจน์เพียงแต่ว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะ ได้รับประโยชน์ จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว

จากมาตรา 84/1 คำว่า "ข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์" นั้นหมายถึง Res ipsa loquitur ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกฎหมาย Common Law หากจะแปลความหมายแล้ว หมายถึง พยานหลักฐานที่พูดได้ พยานหลักฐานที่สามารถฟ้องการกระทำได้ในตัวของมันเอง เช่น พบก้อนสำลีในท้องคนไข้ ก้อนสำลีนั้นฟ้องว่า แพทย์ลืมไว้ในท้องคนไข้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ ก้อนสำลีจะไม่มีทางไปอยู่ในท้องคนไข้ได้ ถ้าแพทย์ไม่ได้ลืมไว้ จะได้อธิบายอย่างละเอียดในเรื่องนี้ต่อไป


ตัวอย่างของข้อสันนิษฐานที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ได้รับความเสียหาย

มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือน หรือ สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่ เพียงพอก็ดีท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้อง ใช้ค่าสินไหมทดแทน

มาตรานี้ ให้ประโยชน์แก่ผู้ซึ่งได้รับความเสียหายจากของตกหล่นจากโรงเรือน โดยกฎหมายสันนิษฐานว่า บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนไม่ดูแลรักษาซ่อมแซมโรงเรือน เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าประมาทเลินเล่อ หากต้องการให้ตนเองพ้นผิด ต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เช่น ได้แจ้งแก่เจ้าของโรงเรือนให้ซ่อมแซมแล้ว ผู้ครองโรงเรือนจึงจะสามารถปัดความรับผิดไปให้แก่เจ้าของโรงเรือนได้ ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหาย พิสูจน์เพียงว่าตนได้รับความเสียหายอย่างใดก็เพียงพอ

มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใด ๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบ เพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการ เสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย นั้นเอง

มาตรานี้ ให้ประโยชน์ในข้อสันนิษฐานแก่ฝ่ายที่เสียหาย คือฝ่ายที่มิได้ควบคุมหรือครอบครองยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โดยสันนิษฐานว่า ฝ่ายที่ครอบครองหรือควบคุมฯ นั้นประมาทเลินเล่อ เช่น นายดำ ขับรถยนต์ชนนางสาวแดง ได้รับบาดเจ็บ นายดำ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าประมาทเลินเล่อ ส่วนนางสาวแดงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน นางสาวแดงจึงสืบพิสูจน์เพียงว่าตนได้รับความเสียหายอย่างไรบ้างเท่านั้น ส่วนนายดำ ต้องสืบแก้ (ถูกผลักภาระการพิสูจน์) ว่า ความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเป็นเพราะนางสาวแดงผู้ต้องเสียหาย วิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด จึงห้ามล้อไม่ทัน

นายดำ เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน (หลังโฉนด) ย่อมได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๗๓ อันเป็นเอกสารมหาชนที่รัฐออกให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ออกมาโดยถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๒๗ เมื่อนายแดงโต้แย้งว่า ที่ดินดังกล่าวมิใช่ของนายดำ นายแดงต้องมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของนายดำอย่างไร และเหตุใดนายดำจึงมีชื่อในโฉนดที่ดินได้ เพราะสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ แล้ว ไม่มีผู้ใดให้ผู้อื่นมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินโดยที่เขาไม่มีสิทธิ ข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่มีชื่อ ที่ต้องพิสูจน์เพียงว่า โฉนดที่ดินนั้นเป็นเอกสารจริง และได้ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจก็เพียงพอแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น