วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

คำพิพากษาฎีกาใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับ

มาตรา 379 บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ก็ให้รีบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งว้นการอันใดอันหนึ่งหากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้อันใด ก็ให้รีบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

ฎีกาที่ 1691/2551 สัญญาจ้างเหมาขุดลอกลำห้วย ให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันจากจำเลย ผู้รับจ้างในกรณีที่ไม่ส่งมอบงานตามกำหนดเวลาได้ โดยกำหนดส่งมอบงานวันที่ 30 สิงหาคม 2545 แต่จำเลยขอขยายระยะเวลาการส่งมอบงานและโจทก์ได้ยินยอมขยายระยะเวลาให้จำเลยถึงวันที่ 27 กันยายน 2545 มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงวันส่งมอบงานจากกำหนดเดิมเป็นวันที่ 28กันยายน 2545 แล้ว โจทก์ไม่อาจเอากำหนดวันส่งมอบงานเดิมมาเป็นฐานที่ตั้งแห่งการเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยได้อีกต่อไป เมื่อกำหนดวันที่งานจะต้องแล้วเสร็จได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน 2545 แต่จำเลยไม่ส่งมอบงานตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 29 กันยายน 2545 เป็นต้นไป

เบี้ยปรับแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่กฎหมายก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามจำนวนนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น

ฎีกาที่ 6236/2551 สัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ปพพ. มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ตามสัญญากู้ฯ กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ต้องห้ามตาม ปพพ. มาตรา654 และ พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหาใช่เป็นข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ขัดต่อ ปพพ. มาตรา 654 และ พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ไม่ตกเป็นโมฆะ

ฎีกาที่ 1888/2551 สัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่งมีระยะเวลาที่แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัด มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ปพพ. มาตรา ๓๗๙ เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้

ฎีกาที่ 4208/2552 เบี้ยปรับที่ศาลลดได้ตาม ปพพ. มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง ต้องเป็นเบี้ยปรับอันเกิดจากการที่คู่สัญญาที่เป็นเจ้าหนี้ทำสัญญาไว้ต่อกันว่าลูกหนี้จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๓๗๙ ๓๘๑ แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ได้รับอนุญาตใช้น้ำบาดาลจากโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นเพราะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๖ และที่ ๗ ซึ่งออกตามความให้ พรบ.น้ำบาดาล พ.ศ.๒๕๒๐ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเบี้ยปรับตาม ปพพ. ศาลจึงไม่อาจปรับลดได้

ฎีกาที่ 6137/2551 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านพักไว้มีข้อความว่า หากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่ค้างให้แก่โจทก์ได้ มีผลเป็นการที่โจทก์ยอมสละค่าแห่งการงานที่โจทก์เสียไปในการก่อสร้างบ้านพักงวดที่สามให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมเป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับตาม ปพพ. มาตรา 381

การพิจารณาว่าเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ ต้องอาศัยความในสัญญาจ้างเป็นสำคัญ เมื่อสัญญาจ้างระบุว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากรูปแบบตามสัญญาจ้าง โจทก์ยอมให้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ให้แก่โจทก์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำข้อสัญญาดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในงานก่อสร้างงวดที่สามจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น