วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความรับผิดทางอาญา ตอนที่ 2 องค์ประกอบภายนอกของความผิด

องค์ประกอบภายนอกของความผิด

เมื่อได้พิจารณาว่ามีการกระทำแล้ว ประตูแห่งความรับผิดทางอาญาจึงจะเปิดออก ส่วนจะมีความรับผิดหรือไม่มีความรับผิดอย่างใดนั้น ต้องพิจารณาทีละเรื่อง ไล่พิจารณาไปอย่าข้ามขั้นตอน

การพิจารณาเรื่ององค์ประกอบภายนอกของความผิดนั้น เป็นการพิจารณาความรับผิดอันดับแรก เมื่อเกิดการกระทำความผิดอาญาขึ้น ต้องพิจารณาที่ตัวบทกฎหมายเสียก่อน แล้วนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาปรับด้วยองค์ประกอบความผิดต่างๆ เช่น

ดำ ยิง แดง ซึ่งนอนหลับอยู่ เมื่อยิงถูกแดงแล้ว ดำหนีไป ปรากฏข้อเท็จจริงว่า แดงได้หัวใจวายตายไปก่อนหน้าที่ดำจะยิงแดงแล้ว ดำจะมีความรับผิดอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาตามลำดับดังนี้

.1. มีการกระทำหรือไม่

การที่ดำยกปืนขึ้นเล็งยิงแดงและได้ยิงแดงออกไปนั้น ดำมีการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับแล้ว ดำจึงมีการกระทำแล้ว

2.. ครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดหรือไม่

มาตรา 288 บัญญัติว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ

หลักในการพิจารณาองค์ประกอบความผิดนี้ แยกพิจารณาเป็นสามส่วนได้แค่ ประธาน กริยา กรรม ถ้าทั้งสามส่วนนี้มีครบตามที่กฎหมายบัญญัติ คือครบองค์ประกอบความผิด

1. ประธานในมาตรา 288 นี้ได้แก่ ผู้ใด

2. กริยาในมาตรา 288 นี้ได้แก่ ฆ่า

3. กรรมในมาตรา 288 นี้ได้แก่ ผู้อื่น

ดำ เป็นผู้ใดหรือไม่

ปัญหานี้ ตอบได้ชัดเจนว่า ดำเป็นผู้ใด เพราะผู้ใดหมายถึงตัวผู้กระทำเอง เป็นผู้ ใดตามนัยยะของกฎหมายทั้งสิ้น

ยิง เป็นการฆ่าหรือไม่ แนวคำพิพากษาศาลฎีกาวางหลักไว้คร่าวๆ ว่า การยิง เป็นเจตนาฆ่า (ส่วนจะมีเจตนาฆ่าหรือทำร้าย ค่อยว่ากัน ยังไปไม่ถึง)

แดง เป็นผู้อื่นหรือไม่ ผู้อื่นหมายถึง ผู้ใดก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเรา และต้องมีสภาพบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 15 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก สิ้นสุดลงเมื่อตาย

การที่ดำยิงแดงในขณะที่แดงตายไปแล้ว สภาพบุคคลของแดงจึงสิ้นสุดไปแล้ว จึงไม่มีผู้ใด ดังนั้น องค์ประกอบความผิดในข้อกรรมนี้ขาดไป

วินิจฉัยได้ว่า ดำไม่มีความผิด เพราะขาดองค์ประกอบความผิด เมื่อพิจารณาได้ว่าขาดองค์ประกอบความผิดแล้ว หยุดเลย ไม่ต้องวินิจฉัยเรื่องอื่นต่อไป จบได้เลย สรุป ไม่มีความผิด

ในเรื่องนี้กฎหมายของไทยแตกต่างจากกฎหมายอาญาฝรั่งเศส ศาลฎีกาฝรั่งเศส วินิจฉัยกรณีนี้ไว้ว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ โดยอาศัยเจตนาร้ายของผู้กระทำความผิดเป็นหลักสำคัญ

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว กรณีนี้ไม่ถือเป็นความผิด เพราะเหตุขาดองค์ประกอบความผิด

องค์ประกอบความผิดที่ต้องอาศัยคุณสมบัติเฉพาะ บางอย่างของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำด้วย

เช่น มาตรา 136* ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

องค์ประกอบความผิดแยกได้ดังนี้

1. ประธานในมาตรานี้ ได้แก่ ผู้ใด

2. กริยาในมาตรานี้ ได้แก่ ดูหมิ่น

ส่วนขยายกิริยาในมาตรานี้ได้แก่ ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

3. กรรมในมาตรานี้ ได้แก่ เจ้าพนักงาน

ดังนี้ การกระความผิดตามมาตรานี้ ต้องได้กระทำต่อเจ้าพนักงานเท่านั้น กระทำการดูหมิ่นต่อบุคคลธรรมดาไม่ผิดมาตรานี้ (แต่ผิดมาตราอื่น) และการดูหมิ่นนั้นต้องได้ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่เช่น ด่าทอตำรวจในขณะปฏิบัติหน้าที่สายตรวจ หรือด่านตรวจค้น เป็นต้น

หรือเพราะได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เช่น ด่าทอตำรวจที่ออกเวรแล้ว กำลังนั่งทานอาหาร แต่เรื่องที่ด่านั้นเป็นเรื่องในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ดำ ด่า ร.ต.ต.ขาว ซึ่งออกเวรแล้ว ขณะกำลังรับประทานอาหาร ว่า “ไอ้หมวดตำรวจเฮ็งซวย มึงแกล้งจับลูกกู แกล้งไม่ให้ประกันตัว” เป็นต้น เพราะแม้ออกเวรแล้ว แต่เรื่องที่ดูหมิ่นนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับหน้าที่ แต่ถ้าด่าทอในเรื่องส่วนตัว เช่น “ไอ้หมวดขาว มึงคิดว่ามึงหล่อหรือ มึงแย่งแฟนกู” อันนี้ไม่ผิดมาตรานี้ เพราะการแย่งแฟนผู้อื่นหรือไม่ หล่อหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่


คำถาม

1. มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ประกอบด้วยองค์ประกอบความผิดใดบ้าง

2. นายสุข ต้องการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวทุกข์ จึงพากันไปจดทะเบียนสมรสที่อำเภอ เมื่อถึงขั้นตอนที่นายทะเบียนสอบถามว่า เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนหรือไม่ นายสุข ตอบว่า ไม่เคย ทั้งๆ ที่ความจริง นายสุขเคยจดทะเบียนสมรสกับ นางพอใจมาก่อนและยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน ให้วินิจฉัยว่า นายสุขมีความผิดตามมาตรา 137 หรือไม่ เพราะเหตุใด

4 ความคิดเห็น:

  1. มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

    องค์ประกอบความผิดแยกได้ดังนี้

    1.ประธานในมาตรานี้ ได้แก่ ผู้ใด
    2.กริยาในมาตรานี้ ได้แก่ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
    ส่วนขยายกิริยาในมาตรานี้ได้แก่ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
    3.กรรมในมาตรานี้ ได้แก่ เจ้าพนักงาน

    ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสุข ซึ่งเป็นผู้ใด ได้มีการกระทำภายใต้บังคับแห่งใจโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ นายทะเบียนเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นผู้อื่นในเรื่อง ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

    จึงวินิจฉัยว่า นายสุขมีความผิดตามมาตรา 137

    ตอบลบ
  2. น้องซีตอบได้ถูกธง ดีมากเลย แต่ความละเีอียดยังต้องปรับปรุง ต้องค่อยๆ พัฒนานะ

    ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสุขได้กล่าวถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานอำเภอ โดยการตอบคำถามว่า ตนยังไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน การกล่าวถ้อยคำนั้นเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ นายสุขจึงมีการกระทำแล้ว

    แล้วจึงต่อด้วยเรื่ององค์ประกอบความผิด ต้องให้ละเอียดทุกเม็ดเลยนะ

    ตอบลบ
  3. ค๊าบ ผมจะพยายามปรับปรุงค๊าบ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ18/6/54 22:20

    คุณซีเก่งมากๆๆครับ ปรบมือให้ครับ
    อาตุณอาจารย์นัทครับ อ่านเข้าใจง่ายยครับ (ไพศาล)

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น