วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิธีพิจารณาคดีโดยใช้คณะลูกขุน 1

ระบบลูกขุน

ระบบวิธีพิจารณาแบบลูกขุนนี้ นิยมใช้ในการพิจารณาคดีโดยระบบกล่าวหา ซึ่งในแต่ละประเทศต่างมีวิธีพิจารณาและรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน โดยทั่วไป คณะลูกขุนจะทำหน้าที่วินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริง แต่ไม่ก้าวล่วงไปพิพากษาลงโทษหรือกำหนดโทษหรือวินิจฉัยในส่วนข้อกฎหมาย

ข้อเท็จจริงคืออะไร เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ คำว่าข้อเท็จจริง เราๆ ท่านๆ ต่างพูดกันจนติดปาก และใช้ในความหมายของ “เรื่องราว” ต่างๆ ว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่ความจริงแล้วในทางกฎหมายมันคืออะไร

ข้อเท็จจริง ในความหมายของกฎหมาย คือ ข้อหรือเรื่องราวที่ต้องอาศัยการนำสืบให้ศาลเห็น ไม่ใช่ข้อหรือเรื่องราวที่ศาลรู้ได้เองเหมือนข้อกฎหมาย และไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ต้องนำสืบเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป เช่น วันเสาร์ อาทิตย์ เป็นวันหยุดราชการ ข้อนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องนำสืบ เพราะคนทั่วไปรู้ วันที่ ๑ ม.ค. ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนรู้กันอยู่ทั่วไปไม่ต้องอาศัยการนำสืบ

ข้อเท็จจริงที่ต้องนำสืบให้ศาลเห็น ได้แก่ข้อเท็จจริงที่ศาลไม่รู้และคนทั่วไปไม่รู้นั่นเอง เช่น จำเลยฆ่านายดำหรือไม่ นายดำทำไปเพื่อป้องกันหรือไม่ เป็นต้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้ต้องนำสืบให้ศาลเห็นเพื่อประกอบดุลยพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ในการพิจารณาคดีแบบไต่สวน ศาลจะเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานและเป็นผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรวมตลอดถึงพิพากษาคดีได้เลย

สำหรับการพิจารณาคดีแบบกล่าวหาที่ไม่ใช้ลูกขุน ศาลไม่มีอำนาจแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง แต่ศาลมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตลอดจนพิพากษาคดีได้เช่นกัน

สำหรับการพิจารณาคดีโดยใช้ลูกขุนนั้น แต่ละประเทศ อาจจะมีจุดแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับสังคมและวิธีคิดรวมถึงจารีตประเพณีของแต่ละประเทศ

ลูกขุนคือใคร

ลูกขุนคือบุคคลทั่วไป ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่จำต้องเป็นผู้รู้กฎหมาย แต่เป็นวิญญูชนที่มีความคิดเป็นปกติแบบคนทั่วไป จะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้ามาเป็นคณะลูกขุนพิจารณาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริงของแต่ละคดี เช่น ในคดีละเมิดเรื่องหนึ่ง มีการฟ้องคดีว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ลูกขุนจะเป็นผู้พิจารณาในประเด็นข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดหรือไม่ โดยอาศัยจารีตประเพณีและวิจารณญาณของวิญญูชนที่เรียกว่า common sense มาวินิจฉัย หากคณะลูกขุนเห็นว่า เป็นความผิดก็จะทำการเสนอต่อศาลวินิจฉัยว่าเป็นความผิดให้ศาลเป็นผู้ตัดสินความผิดและโทษอีกชั้นหนึ่ง

การคัดเลือกลูกขุนทำอย่างไร

ในเรื่องของการคัดเลือกลูกขุนนี้ ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันแน่ๆ คือ ลูกขุนเป็นบุคคลทั่วไป ไม่ใช่นักกฎหมาย บางประเทศ กำหนดให้การเป็นลูกขุนเป็นหน้าที่ของประชาชน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ American citizen มีหน้าที่ในการร่วมในการพิจารณาและตัดสินคดีในศาล เรียกว่า trial by jury โดยจะมีการออกหมายเรียกให้มาคัดเลือกตัวเป็นคณะลูกขุน
เมื่อได้รับหมายศาล จะต้องไปศาลวันและเวลาที่ระบุไว้ในหมาย เมื่อไปถึงศาลแล้วจะต้องเข้ารายงานตัวแล้วก็ไปนั่งคอยร่วมคนอื่นๆ ที่ได้รับหมายเรียกมาเช่นกัน แต่ละครั้งจะมีหมายศาลเรียกตัวกันทีละ 50-60 คน บางครั้งเป็นร้อยก็มี ใครไม่ไปตามที่เขาเรียกจะถือเป็นความผิด เรียกว่า(contempt of court) (เมื่อกฎหมายระบุให้สิ่งใด เรื่องใด เป็นหน้าที่ ไม่ปฏิบัติมีความผิด) เมื่อการคัดเลือกลูกขุนพร้อมแล้ว คณะกรรมการจะให้ผู้ที่ได้รับหมายเรียกทุกท่านแนะนำตัวเอง โดย ระบุถึง ชื่อ อาชีพ สถานภาพการแต่งงาน ระยะทางที่ต้องขับรถจากบ้านมาศาล เพื่อพิจารณาเรื่องค่าเดินทาง (ค่าน้ำมัน)
หลังจากนั้นผู้พิพากษาก็จะอธิบาย case หรือรูปคดีในคดีนั้น แนะนำคู่ความแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย แนะนำทนายของแต่ละฝ่าย ให้ผู้ที่ได้รับหมายเรียกทราบ
หลังจากนั้น จะมีการสอบถามผู้ที่ได้รับหมาย ทั้งหมดว่าใครคิดว่าตนเองจะรับหน้าที่ลูกขุนในกรณีนี้ไม่ได้ เช่น รู้จักใครที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไม่ว่า โจทก์ จำเลย ทนายโจทก์และทนายจำเลยบ้าง หรือใครเคยเรียกหรือถูกเรียกค่าเสียหายมาแล้วบ้าง หากเคยแล้ว ก็จะไม่เลือกเข้ามาเป็นลูกขุน เนื่องจากอาจะทำให้เกิด อคติในการพิจารณาคดีได้ ขั้นตอนที่ผู้พิพากษาตั้งคำถามนี้ว่า voir dire (วัวร์-เดีย)
หลังจาก voir dire สิ้นสุดลง ก็จะทำการคัดเลือกลูกขุน โดยนำชื่อของผู้ถูกเรียกทั้งหมดใส่ลงในกล่อง แล้วให้คนกลางเลือกจับชื่อในกล่องนั้นมา 20 ชื่อ เจ้าหน้าที่ของศาลจะจดชื่อเหล่านั้นไว้ หรือพิมพ์ออกมา แล้วให้ทนายของแต่ละฝ่ายไปเลือก ทนายของแต่ละฝ่ายก็จะคัดชื่อคนที่ตัวไม่เห็นควรออก มีสิทธิคัดออกฝ่ายละ 4 คน เหลือไว้ 12 คน หรือ 6 คนตามลักษณะของแต่ละคดี ซึ่งผู้พิพากษาจะมอบหมายให้เป็นลูกขุนสำหรับคดีนั้นๆ และจะเลือกคนหนึ่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะลูกขุน หรือที่เรียกว่า foreman
คณะลูกขุนที่ได้รับเลือกก็จะเข้าสาบานตัว และการพิจารณาคดีนั้นจะเริ่มได้
ส่วนคนที่ไม่ได้รับเลือกก็จะกลับไปนั่งที่ห้องซึ่งเขาจัดเตรียมไว้ เพื่อคอยให้เขามาเรียกไปให้เลือกในคดีถัดไปอีก

บุคคลที่ไม่มีสิทธิเป็นลูกขุนหรือพูดง่ายๆ ว่าขาดคุณสมบัติ คือบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกหรือรอลง อาญา หรือเป็นบุคคลที่มีสติไม่สมประกอบ หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ นอกจากนี้มีสาขาอาชีพ เช่น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร องคมนตรี ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม เจ้าหน้าที่ศาล พัสดี ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ผู้คุมนักโทษ ลูกจ้าง ในสำนักงานกฎหมาย จะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ที่เป็นนักกฎหมายหรือมีความรู้ในเรื่องของกฎหมาย ไม่สามารถเป็นลูกขุนได้
นอกจากนี้ยังมีผู้มีสิทธิขอให้ได้รับการยกเว้นจากการเป็นลูกขุนในกรณีพิเศษ เช่นเป็นผู้สูงอายุเกิน 65 ปี เป็นบุคคลทุพพลภาพ เป็นสาวกของศาสนาที่ห้ามข้องเกี่ยวกับสังคม หรือเป็นบุคคลในสาขาอาชีพที่มีหน้าที่ ซึ่งมีความรับผิดชอบที่สำคัญไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น แพทย์ อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งนักศึกษาในช่วงที่อยู่ในภาคเรียน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต และผู้คนในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น