วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ระบบไต่สวน vs กล่าวหา

ระบบวิธีพิจารณาคดี

ระบบวิธีพิจารณาคดี คือ วิธีการดำเนินคดีในศาล หลักเกณฑ์การฟ้องคดีต่างๆ รวมถึงภาระการพิสูจน์ การแสวงหาพยานหลักฐานนำเสนอต่อศาลเพื่อสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของแต่ละฝ่าย

ระบบวิธีพิจารณาคดีแบ่งออกเป็นสองระบบหลักๆ คือ
1.ระบบกล่าวหา (Accusatorial System) ใช้กับกฎหมายในระบบ Common law
2.ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) ใช้กับกฎหมายในระบบ Civil law

ระบบกล่าวหานั้น มีที่มาจากประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ โดยมีพื้นฐานวิธีคิดมาจากการแก้แค้นกันระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตนเอง แล้วรวบรวมพยานหลักฐานมานำสืบความผิดของจำเลยในศาล ส่วนศาลหรือผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด ไม่ถามหรือแสวงหาพยานหลักฐานใดเพิ่มเติม หากขาดพยานหลักฐานในส่วนใด ศาลจะถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้เสียหายเอง และจะยกประโยชน์ในข้อนี้ให้แก่จำเลย อุปมาเหมือน การทำกับข้าว หากต้องการให้ศาลทำแกงไก่ แต่ไม่ซื้อกะทิมาให้ ศาลจะทำแกงไก่ไม่ได้ และศาลก็ไม่มีสิทธิไปซื้อกะทิเอง ดังนั้น สิ่งที่ศาลจะทำได้อย่างมากคือ แกงป่า

สำหรับระบบกล่าวหานั้น บางประเทศอาจจะนิยมใช้คณะลูกขุนในการตัดสินข้อเท็จจริง แต่บางประเทศก็ไม่ใช้คณะลูกขุน แต่ยกหน้าที่ในการตัดสินทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แก่ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยทั้งหมด ทั้งนี้แล้วแต่บริบททางสังคมของแต่ละประเทศนั้น

หลักการใหญ่ๆ ที่พิจารณาว่าประเทศใดใช้วิธีพิจารณาในระบบกล่าวหานั้น มีวิธีพิจารณาข้อแตกต่างของทั้งสองระบบ ดังนี้

1. ผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง ในบางความผิดอาญา โดยไม่ต้องอาศัยพนักงานอัยการ และในคดีแพ่งผู้เสียหายก็มีอำนาจฟ้องคดีได้เองด้วย

2. การพิจารณาคดี เน้นการเท่าเทียมกันของคู่ความ ไม่ว่าระหว่างรัฐ-เอกชน หรือเอกชน-เอกชน

3. การพิจารณา กระทำโดยเปิดเผย และด้วยวาจา โดยกระทำต่อหน้าศาล และคณะลูกขุน (หากมี) ในศาล

4. ศาลไม่มีอำนาจแสวงหาพยานหลักฐาน ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยหน้าที่การแสวงหาและนำเสนอพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของคู่ความ ในส่วนนี้กฎหมายไทย ได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในหลักของภาระการพิสูจน์ “ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ในข้อเท็จจริงนั้น” ศาลไม่สามารถถามความได้เอง ไม่สามารถถามในส่วนที่ตนเองสงสัย หรืออยากเห็นพยานหลักฐานใดก็ไม่สามารถถามหาเอาได้ ในเรื่องนี้ขอให้ท่านไปดูหนังฝรั่ง เกี่ยวกับศาลหรือการพิจารณาคดีในศาล หรือไปดูได้จากศาลยุติธรรมในจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย ศาลจะไม่ถาม มีหน้าที่ฟัง และทำการบันทึกคำให้การต่างๆ หากศาลสงสัยในส่วนใด ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ซึ่งกฎหมายไทยก็ได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย ยกประเด็นแห่งคดี หรือนำสืบพยานเอง

5. ในวิธีพิจารณา มีบทตัดพยานชัดเจนเคร่งครัด (อยู่ในกฎหมายลักษณะพยาน) เช่น หากพยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่สามารถที่จะนำมาให้ศาลรับฟังเป็นพยานได้ หลัก ต้นไม้มีพิษ ลูกไม้ย่อมมีพิษ Fruit of the poisonous tree

6. คำพิพากษา มีลักษณะเป็นการบัญญัติกฎหมาย

ส่วนระบบไต่สวนนั้น มีพื้นฐานและวิธีคิดว่า ผู้มีอำนาจในการไต่สวนควรจะเป็นผู้มีอำนาจในบ้านเมือง อันที่จริงมีอิทธิพลจากศาสนา ว่ากันว่าระบบไต่สวนมีที่มาจากศาลทางศาสนาของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิคในสมัยกลาง ซึ่งทางศาสนจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสันตปาปาแห่งกรุงโรม มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักรคือ กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในสมัยกลาง ศาลศาสนาของยุโรปมีวิธีการพิจารณาคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายของทางศาสนาด้วยวิธีการซักฟอกพยาน โดยพระผู้ทำการไต่สวนจะมีอำนาจซักฟอก ซักถามตัวผู้กระทำความผิดได้โดยตรง หากจะหาดูตัวอย่างของระบบไต่สวน ขอให้ท่านไปดูภาพยนตร์เรื่องเปาปุ้นจิ้น ที่ท่านเปามีอำนาจในการไต่สวนถามกับผู้กระทำความผิดได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านทนายความเหมือนหนังฝรั่ง ซึ่งใช้วิธีพิจารณาคดีแบบกล่าวหา นอกจากนั้น การแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ ยังอยู่ในอำนาจของศาลอีกด้วย ท่านเปาหากสงสัยในเรื่องใด ก็สามารถที่จะให้จั่นเจาไปแสวงหาข้อเท็จจริงมานำเสนอ โดยไม่ต้องผ่านการนำเสนอของคู่ความในคดีแต่อย่างใด สำหรับประเทศไทย ใช้ระบบไต่สวนในศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนในศาลยุติธรรมเช่น ศาลอาญา ศาลแพ่ง ฯลฯ ใช้ระบบวิธีพิจารณาแบบกล่าวหา แต่ไม่ใช้คณะลูกขุน

หลักการใหญ่ที่จะพิจารณาถึงระบบไต่สวน

1. ศาลเป็นผู้ทำการไต่สวน มีอำนาจสืบพยาน และควบคุมการไต่สวนเอง (เหมือนท่านเปา) ซึ่งทำให้ศาลมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างมากทีเดียว

2. ไม่เน้นความเท่าเทียมกันของคู่ความ เนื่องจากวิธีพิจารณา มีลักษณะเป็น การต่อสู้ระหว่างรัฐกับจำเลย โดยหากมีการฟ้องร้องใดๆ จะต้องผ่านรัฐเสมอ รัฐจึงเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย

3. การพิจารณา อาจมิได้กระทำโดยเปิดเผย

4. เนื่องจากศาลมีอำนาจในการสืบพยานและไต่สวน การพิจารณาพยานหลักฐานจึงเปิดกว้างขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล โดยศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานที่ศาลสงสัย หรืออาจะเห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญได้ด้วยอำนาจของศาลเอง อุปมาเหมือนถ้าจะทำแกงไก่แล้วขาดกระทิ ศาลก็สามารถไปตลาดซื้อกระทิเองได้ (ข้อดีหรือข้อด้อย ความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับรูปคดี เพราะไม่มีการเปิดเผยพยานหลักฐานในการใช้ต่อสู้คดีก่อนการพิจารณาแบบระบบกล่าวหา)
ขอขยายความส่วนนี้เพื่อความเข้าใจ
สืบเนื่องจากวิธีพิจารณาคดีแบบกล่าวหานั้น การนำเสนอพยานหลักฐานต้องอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันของคู่ความ คู่ความจะต้องเปิดเผยหรือยื่นบัญชีระบุพยานให้คู่ความอีกฝ่ายทราบก่อนเริ่มพิจารณา อุปมาเหมือนการนำอาวุธของตนเองออกมาแสดงว่าฉันจะใช้อาวุธชนิดนี้นะ เธอเตรียมรับให้ดี ซึ่งทำให้เกิดความเท่าเทียมในการเตรียมตัวสู้คดี แต่ระบบไต่สวนนี้ พยานหลักฐานศาลสามารถเรียกมาเพิ่มได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่ศาลต้องการเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดี ดังนั้น บางครั้ง คู่ความอาจจะไม่ทราบเลยว่า ศาลจะเรียกพยานหลักฐานใด และใช้หลักฐานใดในการวินิจฉัยการกระทำของตน เป็นประโยชน์ ดังนั้น การปั้นคดีเพื่อกลับผิดเป็นถูก แพ้เป็นชนะ จึงทำได้ค่อนข้างลำบาก

5. ใช้ประมวลกฎหมาย ในการกำหนดความผิดและโทษ ไม่ใช่คำพิพากษา

ล่าวโดยสรุป ระบบกล่าวหา และระบบไต่สวนนี้ ข้อแตกต่างอย่างชัดเจนคือ การนำเสนอพยานหลักฐาน การแสวงหาพยานหลักฐาน ทำให้สองระบบนี้มีความแตกต่างกัน ในระบบกล่าวหา ศาลไม่สามารถล้วงลูกต่อพยานหลักฐานได้ แต่ระบบไต่สวนเป็นอำนาจของศาลโดยตรงที่จะล้วงลูกต่อพยานหลักฐานได้

สำหรับเรื่องระบบไหนจะดีกว่าและด้อยอย่างไรนั้น อันนี้สุดแท้แต่เป็นลักษณะคดีประเภทใด ถ้าคดีที่คู่ความมีความเท่าเทียมกันในการต่อสู้ ในการนำเสนอพยานหลักฐาน หรือแสวงหาพยานหลักฐานแล้วหล่ะก้อ ระบบกล่าวหาดีที่สุดแล้วค่ะ เพราะเปิดเผยพยานหลักฐาน ถ้าจะแพ้ แพ้เพราะรูปคดี หรือแพ้เพราะความบกพร่องของคู่ความเอง

ส่วนหากการต่อสู้คดีคู่ความไม่มีความเท่าเทียมกันในด้านการต่อสู้ เช่น คดีระหว่างรัฐกับเอกชน ตามกฎหมายมหาชน ระบบไต่สวนจะดีที่สุด เพราะศาลสามารถล้วงลูกหาพยานหลักฐาน และถามพยานเองได้ เนื่องจากหากพยานหลักฐานอยู่กับฝ่ายรัฐ จะเป็นการยากที่เอกชนผู้เป็นคู่ความจะนำมาแสดง แต่ถ้าศาลล้วงลูกหาพยานหลักฐานเอง ตามดุลยพินิจของศาล ซึ่งเป็นผลถ่วงดุลยให้เกิดความเท่าเทียมในการพิจารณาคดีได้

4 ความคิดเห็น:

  1. ทึ่งจัง เขียนหนังสือได้กว้างมาก
    สอนกี่วิชาครับเนี่ย

    ตอบลบ
  2. ต้องถามว่า ไม่สอนกี่วิชาจะตอบง่ายกว่าค่ะ อิอิ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ20/6/55 15:51

    พี่เก่งมากกกกกกกกกกกกกกก ชอบมากกกกกก ปลื้มมากกก ขอบพระคุณคะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ16/7/55 10:19

    อธิบายเข้าใจง่ายดีค่ะ ขอบพระคุณ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น