วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ระบบกฎหมาย civil law และ common law 1

ระบบกฎหมายหลักของโลก

ในโลกนี้มีระบบกฎหมายที่ใช้กันอยู่หลายระบบ แต่ระบบที่เราจะนำมาศึกษาและทำความเข้าใจ จะขอยกไว้เพียงสองระบบ คือ

1. civil law
2. common law

แต่ละระบบคืออะไร นักศึกษาที่เรียนมาอ่านตำรามาจะเข้าใจและท่องเอาว่า civil law คือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร common law คือระบบกฎหมายจารีตประเพณี แต่หามีความเข้าใจที่ชัดเจนเด็ดขาดไม่ วันนี้จะอธิบายในสองระบบนี้ให้เข้าใจแบบชัดเจนเด็ดขาดเสียทีเดียว

ซีวิลลอว์ คือ กฎหมายในระบบ "ประมวลกฎหมาย" ผู้เขียนไม่อยากให้เรียกว่า กฎหมายลายลักษณ์อักษร เพราะไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในระบบใดก็ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น จึงควรใช้คำให้ถูกต้องว่า "ระบบประมวลกฎหมาย"
ประเทศที่ใช้กฎหมายในระบบประมวลกฎหมายมีหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมัน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน ประเทศฝรั่งเศษ อิตาลี และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นต้น

คอมมอนลอว์ คือ กฎหมายในระบบ "จารีตประเพณี" ที่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน มิใช่ใช้กันตามความรู้สึกแต่อย่างใด แต่เป็นการนำเอาคำพิพากษาในคดีที่ศาลตัดสินแล้วมาเป็นกฎหมาย ประเทศที่ใช้กฎหมายในระบบนี้ เช่น ประเทศอังกฤษ และประเทศอเมริกา เป็นต้น

สิ่งที่ทำให้ระบบกฎหมายสองระบบนี้ต่างกัน คือ ที่มาต่างกัน วิธีการใช้ต่างกัน

ที่มาของกฎหมายในระบบประมวลกฎหมาย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ประมวลกฎหมายคืออะไร คำว่า "ประมวลกฎหมาย" นี้มีความหมายเป็นสองนัยยะ คือ

1. ชื่อของกฎหมาย ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นต้น

2. ชื่อของระบบกฎหมาย "ระบบประมวลกฎหมาย" ซึ่งมีความหมายว่า กฎหมายทั้งหมดทั้งมวลสามารถเชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องโยงยึดกันได้ ประเทศที่ใชกฎหมายที่มีลักษณะเป็นประมวลกฎหมาย จะค่อนข้างมีความลึกซึ้งในการใช้กฎหมาย และนักกฎหมายจำต้องรอบรู้กฎหมายทุกเรื่อง เพราะกฎหมายทั้งหมดต้องอาศัยเชื่อมโยงกัน เชื่อมโยงกันอย่างไร คงไม่เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างอธิบายคำว่าเชื่อมโยงกันดังนี้

นายดำ ฆ่านายแดง โดยเอาปืนไปยิงนายแดงซึ่งกำลังนอนอยู่ เมื่อนายดำยิงนายแดงแล้ว นายดำหนีไป ปรากฎข้อเท็จจริงภายหลังว่า ขณะนายดำยิงนายแดงนั้น นายแดงได้ตายไปก่อนแล้วด้วยอาการหัวใจวาย ถามว่า นายดำมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นหรือไม่

เราต้องมาดูตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น

การจะทำความเข้าใจว่า ผู้ใด หรือ ผู้อื่นนี้คืออะไร เราต้องไปดูเรื่องความเป็นบุคคลและสภาพบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่ง เห็นหรือไม่ว่า เราใช้กฎหมายอาญาแท้ๆ ในการเอาผิดนายดำ แต่ทำใมต้องเชื่อมโยงไปดูกฎหมายแพ่งด้วยเล่า เพราะนี่คือการโยงยึดกันของประมวลกฎหมาย แล้วไปดูอะไรในกฎหมายแพ่งดูเพื่ออะไร ก็เพื่อวินิจฉัยว่า เป็นการฆ่าผู้อื่นหรือไม่ หากนายแดงไม่เป็นผู้อื่นเสียแล้ว นายดำก็ไม่มีความผิดเนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิด

ประมวลกฎหมายแพ่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 บัญญัติถึงสภาพของบุคคลว่า
มาตรา 15 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย

ในชั้นนี้ไม่ขออธิบายถึงหลักวิชาการแพทย์เกี่ยวด้วยการคลอด ว่าอย่างไรถือเป็นการคลอด ซึ่งมีหลักการแพทย์และคำพิพากษาฎีการองรับ เอาเป็นว่า สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก

แต่ สิ้นสุดลงเมื่อตาย ดังนั้น เมื่อคนเราตายไปแล้ว สภาพบุคคลย่อมไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีสภาพบุคคลย่อมไม่มีผู้ใด หรือ ผู้อื่น เพราะผู้มิใช่หมายถึงเพศผู้ แต่หมายถึงบุคคล การจะเข้าใจลักษณะบุคคลก็ต้องไปดูตามประมวลกฎหมายแพ่งนั่นเอง

ดังนั้น การที่นายดำยิงไปยังนายแดง ซึ่งได้ตายไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงไม่ใช่การฆ่าผู้อื่น เนื่องจากไม่มีผู้อื่นอยู่ในขณะที่นายดำกระทำการฆ่า นายดำจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน เราคงได้ยินคดีจอมขมังเวทย์ ขุดเอาศพหญิงตายทั้งกลม (ไม่ใช้ตายท้องกลม แต่ตายทั้งกลม ทั้งกลมแปลว่าทั้งหมด หมายถึงตายทั้งหมดทั้งแม่และลูก) เอามาผ่าท้องแล้วเอาซากเด็กในท้องมาเผา ย่าง ทำลูกกรอก ปัญหาว่า จอมขมังเวทย์มีความผิดฐานทำลายศพ (ศพเด็ก) หรือไม่ เราต้องไปพิจารณาจากกฎหมายแพ่งมาตรา 15 นี้เช่นกัน คนจะเป็นศพได้ต้องตายเสียก่อน เมื่อไม่เกิดก็ตายไม่ได้ เด็กอยู่ในท้องแม่ ยังไม่คลอด สภาพบุคคลยังไม่เริ่ม จึงสิ้นสุดไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่การทำลายศพ เพราะซากเด็กในท้องแม่ยังไม่ใช่ศพ

นี่คือตัวอย่างการนำมาใช้โดยโยงยึดกันของกฎหมาย ดังนั้น หากนักกฎหมายขาดองค์ความรู้ทางตัวบทกฎหมายโดยครอบคลุมแล้วจะไม่สามารถนำกฎหมายมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ



8 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12/11/53 07:25

    อ่านแล้วคับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ16/6/54 20:03

    อยากจะถามว่า
    เหตุใดประเทศไทยจึงเลือกใช้ระบบประมวลกฏหมายคร่ะ

    ตอบลบ
  3. มีตอบไว้แล้วค่ะ เขียนไว้ในบทความสองบทความนี้ค่ะ

    http://natjar2001law.blogspot.com/2010/11/1_3714.html

    http://natjar2001law.blogspot.com/2010/11/2.html

    ตอบลบ
  4. อยู่ทางด้านขวา ลองมองดูนะคะ

    ต่อตอนที่ 2 การเสียสิทธิสภาพนอกอณาเขต
    ความรู้ทางประวัติศาสตร์ เรื่องระบบกฎหมายและระบบวิธีพิจารณา

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ26/8/54 11:57

    เเล้ว จะ เอา ผิดนายดำได้อยางไร

    ตอบลบ
  6. ไม่ผิดคือไม่ผิดค่ะ ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดจะให้ผิดคงไม่ได้ค่ะ

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ9/2/55 10:43

    อ่านแล้ว ได้ประโยชน์มากครับ..ขอบพระคุณมากมาย

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ17/5/55 11:47

    จะบอกว่าตอนอยู่ในห้องเรียนไม่รุ้เรื่องเลย แต่พอมาอ่านแล้วเห็นภาพมากขึ้น ขอบคุณมากๆเลยค่ะ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น