วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความรับผิดทางอาญา ตอนที่ 1 การกระทำทางอาญา

เมื่อพูดถึงการเข้าสู่ความรับผิดทางอาญา จำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน หากข้ามขั้นตอนจะทำให้เกิดความสับสน และผิดพลาดในการวินิจฉัยความผิดอาญาได้ เมื่อเราถามถึงความรับผิดทางอาญาเกิดขึ้นอย่างไร หรือบุคคลใดจะต้องมีความรับผิดทางอาญาหรือไม่ ร้อยทั้งร้อย ตอบว่า พิจาณาที่เจตนา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต เพราะเป็นการพิจารณาข้ามขั้นตอน ทำให้เกิดความสับสนและไม่แม่นยำในการวินิจฉัยความรับผิดได้ เมื่อถามไล่ไปไล่มารับรองไปไม่เป็นแน่ เพราะไม่ได้ไปตามลำดับขั้นตอน รากฐานไม่ดีไม่แน่น กระบวนการเข้าสู่กฎหมายอาญาหาได้พิจารณาจากเจตนาของบุคคลทันทีอย่างที่เข้าใจกันไม่

เมื่อพูดถึงความรับผิดทางอาญา อยากให้จินตนาการว่า เรากำลังเดินเข้าสู่ห้องห้องหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า “ห้องความผิดอาญา” การจะเข้าห้องนี้ได้ เราต้องเปิดประตูเสียก่อน หากตราบที่เรายังไม่ได้เปิดประตู เราจะยังไม่มีความรับผิดใดๆ ในเรื่องของเจตนาอยู่ในห้องนี้ ดังนั้น หากประตูยังไม่เปิด ไม่ต้องพิจารณาเจตนาเลย เจตนาจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในอันดับหลัง ไม่ใช่อันดับแรกอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป

มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

เมื่อพิจารณามาตรา 59 จะเห็นได้ว่า เรื่องของเจตนาอยู่ในวรรคสอง นี่คือจุดอ่อนของผู้ศึกษากฎหมายอาญาที่นำวรรคสองมาพิจารณาก่อนวรรคแรก ขอให้สังเกตให้ดี

บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

สิ่งแรกที่มาตรา 59 บัญญัติคือเรื่องของ การกระทำ
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ เห็นหรือไม่ว่า สิ่งแรกเลยที่ต้องพิจารณาคือการกระทำ หากไม่มีการกระทำแล้ว ไม่ต้องพิจารณาเรื่องเจตนา ต่อเมื่อมีการกระทำแล้วจึงพิจารณาเรื่องเจตนาต่อไปในภายหลังและยังอีกห่างไกลกว่าจะไปถึงเจตนา

การกระทำ คือ การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ

การกระทำจึงมิใช่แต่การเคลื่อนไหวเท่านั้น รวมตลอดถึงการไม่เคลื่อนไหวด้วย อยู่เฉยๆ อาจติดคุกได้เช่นกัน หากเข้ากรณีตามวรรคท้าย

การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวก็ตามต้องอยู่ภายใต้จิตใจบังคับด้วย เช่น ดำยกปืนขึ้นเล็งยิงแดง ดำเคลื่อนไหวมือของดำภายใต้จิตใจของดำบังคับ หรือ ดำยกมือขึ้นแขกหัวแดง ดังนี้ ดำเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจของดำบังคับ แต่หาก ขาวจับมือดำยกขึ้นไปแขกหัวแดง อันนี้เห็นได้ว่า ดำมีการเคลื่อนไหว จะบอกว่าไม่มีไม่ได้ แต่การเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้จิตใจของดำบังคับ การกระทำจึงประกอบด้วย การเคลื่อนไหว+ใจบังคับ ดังนั้น หากไม่มีการกระทำจะไม่ต้องมีความรับผิดอาญาใดๆ เสมือนยืนอยู่หน้าประตูห้องแต่ยังไม่ได้เปิดประตู

ในบทความนี้ อยากให้ท่านที่สนใจลองตอบคำถามนี้ดูเพื่อตรวจสอบว่าท่านเข้าใจในเรื่องที่ผู้เขียนได้อธิบายไปแล้วหรือไม่

คำถาม แม่นอนดิ้นทับลูกตาย แม่จะต้องมีความรับผิดทางอาญาฐานใดหรือไม่


4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18/6/54 22:08

    ผมคิดว่าถ้านอนหลับ ก็ไม่ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวใต้จิตบังคับ..ไม่ใช่การกระทำครับ ไม่ต้องรับผิด (ไพศาล)

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ18/6/54 22:11

    ที่เคยเจอคือการนอนละเมอ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำแน่นอน แต่ที่นี้ ครูให้ข้อเท็จจริงคือนอนดิ้นชักจะไม่มั่นใจล่ะครับ

    ตอบลบ
  3. นอนดิ้นมีความรู้สึกตัวไม๊ มันเหมือนดิ้นดิสโก้มั้ยหล่ะ อิอิ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ8/11/54 14:15

    ตาม ปอ. 59 วางหลักไว้ว่า บุคลจะได้รับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อกระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ต้องได้รับความผิดเมื่อกระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่เจตนา ดังนั้น การที่แม่นอนดิ้นแล้วไปทับลูกตาย จึงถือว่าแม่จะต้องมีความรับผิดทางอาญา ฐานกระทำโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต

    ตอบอย่างนี้ถูกไหมคะ (นักศึกษา นิติ ปี1 มสธ.ค่ะ)

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น