วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

น้ำตาเช็ดหัวเข่า กับสัญญาจะหมั้น




สัญญาจะหมั้น

ว่าด้วยเรื่องความรักแล้ว  ผู้หญิงทอดกายก็เพื่อให้ได้มาซึ่งใจของชาย  เวลาชายหญิงมีความรักกันผู้ชายก็มักจะสัญญิงสัญญาต่างๆ นาๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งกายของหญิง  สุดท้ายหากการคบหากันมิได้เกิดจากความรักจริงแล้ว  การทอดทิ้ง หลบหน้า ก็จะเกิดขึ้นเสมอ  ดังเรื่องราวของนางสาวสุดสวยและนายหนุ่มหล่อ

นางสาวสุดสวยกับนายหนุ่มหล่อ รักใคร่ชอบพอกันมาสักระยะ  ความรักของทั้งคู่เต็มไปด้วยความสดใสดุจน้ำค้างแรกที่โปรยปรายในยามรุ่ง  หวานและฉ่ำเย็น  แต่ด้วยความที่นายหนุ่มหล่อยังไม่พร้อมด้วยฐานะเงินทองที่จะเลี้ยงดู สู่ขอ นางสาวสวยให้เรียบร้อยตามประเพณี นายหนุ่มหล่อจึงทำหนังสือไว้ฉบับหนึ่ง  เพื่อเป็นหลักฐานให้นางสาวสุดสวยเชื่อมั่นว่าตนจะไม่ทอดทิ้งและจะหมั้นหมายแต่งงานอยู่กินกับนางสาวสุดสวยอย่างแน่นอน  ทั้งสองทำหนังสือต่อกัน ลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายว่า  นายหนุ่มหล่อจะมาทำการสู่ขอหมั้นหมายกับนางสาวสวย ภายในวันที่.............ด้วยทรัพย์สินคือ..................และถ้าหากนายหนุ่มหล่อผิดสัญญา ไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ ยินยอมให้นางสาวสุดสวยดำเนินคดีอาญา และเรียกร้องค่าเสียหายจากตนได้ ตนจะยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน ๑ แสนบาท  จากนั้น นางสาวสุดสวย ก็ยอมมอบกายและใจเป็นของนายหนุ่มจนสิ้นเชิง  เวลาผ่านไป น้ำค้างรุ่งอรุ่ณได้แปลเปลี่ยนไปกลายเป็นน้ำครำ  นายหนุ่มหล่อเริ่มเบื่อหน่ายและรำคาญนางสาวสุดสวย จึงคิดตีตัวออกห่าง ไม่เอาใจใส่นางสาวสุดสวยเหมือนเดิม  จนเมื่อถึงกำหนดตามสัญญา นางสาวสุดสวยจึงทวงถามสัญญา  นายหนุ่มหล่อกลับบ่ายเบี่ยงไม่รับผิดชอบและไม่ยอมแต่งงานกับนางสาวสุดสวย  ปัญหาว่า นางสาวสุดสวยจะนำหลักฐานที่ลงลายมือชื่อกันไว้อย่างดีนั้น มาฟ้องร้องให้นายหนุ่มหล่อแต่งงานกับตน หรือเรียกค่าเสียหายใดๆ ได้หรือไม่

คำสัญญิงสัญญาว่าจะหมั้นหมายก็ดี จะแต่งงานด้วยก็ดี ไม่ทอดทิ้งก็ดี  ไม่ว่าจะสัญญากันด้วยปากเปล่าหรือด้วยการทำสัญญาเป็นหนังสือว่า  ล้วนแล้วแต่ไม่มีผลในทางกฎหมาย บังคับไม่ได้ทั้งสิ้น  ด้วยเหตุผลตามกฎหมายดังนี้

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  สัญญาหมั้นจะสำเร็จบริบูรณ์ด้วยมีการให้ของหมั้น และของหมั้นจะต้องให้ในวันหมั้นเท่านั้น  จะทำหนังสือสัญญาหรือตกลงกันว่าของหมั้นจะนำมาให้ในวันอื่นนั้นไม่ได้

มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์ สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

ติดตามอ่านรายละเอียดเรื่องสัญญาหมั้นได้ที่นี่

ส่วนสัญญาที่ตกลงกันด้วยวาจาก็ดี ด้วยหนังสือก็ดีว่าจะทำการหมั้นหมายกันภายหน้านั้น ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย เพราะมิใช่สัญญาจะหมั้นนั้นไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ และสัญญาดังกล่าวไม่สามารถบังคับได้อย่างสัญญาทั่วไปเพราะเป็นสัญญาที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน  ไม่มีความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน ไม่ใช่หนี้ที่ต้องชำระด้วยการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ

มาตรา 194 ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่ง การชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่ง ก็ย่อมมีได้

คำว่า ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ นั้นหมายถึงกฎหมายในเรื่องนั้นๆ เปิดโอกาสให้ก่อหนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ในเมื่อกฎหมายแพ่งว่าด้วยครอบครัวได้บัญญัติไว้ชัดแล้วว่า การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์ สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
และ
มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามี ภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้า นายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย 

มาตรา 1438 การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้นข้อตกลงนั้น เป็นโมฆะ 

สัญญาจะหมั้น โดยมีข้อตกลงว่าถ้าผิดสัญญาไม่ยอมสมรสด้วยจะดำเนินคดีตามกฎหมายก็ดี จะฟ้องเอาค่าปรับก็ดี จึงไม่มีผลบังคับใช้ เพราะเป็นสัญญาที่ขัดต่อมาตรา 1458 และ 1438 อย่างชัดเจน 
ใครจะบังคับใครมาแต่งงานกับใคร ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อการสมรสจะต้องกระทำด้วยความยินยอมของชายและหญิงแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมสมรส จะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งสมรสนั้น กฏหมาย ไม่เปิดช่องให้กระทำได้

มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดย กฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

ด้วยเหตุตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น นางสาวสุดสวยจึงต้องเสียสาวให้แก่นายสุดหล่อไปโดยที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้  นอกจาก  ผ้าเช็ดน้ำตาและความเจ็บใจ เท่านั้นเอง 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น