วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

หย่าเพราะมีชู้




ภริยาสามีมิชอบเนื้อพึงใจกัน เฃาจะหย่ากันไซ้ตามน้ำใจเขา เหดุว่าเฃาทังสองนั้นสิ้นบุญกันแล้ว จะจำใจให้อยู่ด้วยกันนั้นมิได้   (อักขระตามกฎหมายเดิม)

เมื่อกล่าวถึงสามีภริยา  ชาวพุทธคงอดนึกถึงบุญเคยทำกรรมเคยแต่งร่วมกันมา  ตักบาตรร่วมขัน ทำบุญร่วมชาติ  สามีภริยาในความเข้าใจของชาวพุทธคือการอยู่ร่วมกันด้วยบุญ  เมื่อสิ้นบุญ  ก็หมดรักกัน  เหตุหย่าร้าง  การนอกใจ  จึงปรากฏให้เห็นเสมอ  ดังคู่ของ  นายสมชายกับนางสมหญิง  เรื่องราวที่เกี่ยวพันกับกฏหมายครอบครัว  เรื่องรักราวและมือที่สาม  จนถึงมือที่สี่

นายสมชายกับนางสมหญิง  แต่งงานอยู่กินจดทะเบียนสมรสกัน  อยู่กินกันมาได้ระยะหนึ่ง  นายสมชายก็จับได้ว่า นางสมหญิงคบหากับนายสามฉันสามีภริยา  กล่าวตามภาษากฎหมายโบราณว่า “ชู้”  นายสมชายจับได้พร้อมภาพถ่าย มีหลักฐานแน่นหนา  แต่นายสมชายก็มิได้ติดใจต้องการหย่าร้างกับนางสมหญิงแต่อย่างใด  นายสมชายคิดว่าเมื่อเธอทำได้ฉันก็ทำได้  นายสมชายจึงได้คบหากับนางสาวสี่ฉันสามีภริยาเช่นกัน  จนวันหนึ่งความทราบถึงนางสมหญิง  นางสมหญิงจึงปรารภว่าจะฟ้องหย่านายสมชายและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู  ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า นางสมหญิงมีสิทธิจะทำเช่นนั้นหรือไม่ และนายสมชายสามารถใช้ข้อต่อสู้ว่านางสมหญิงเองก็มีชู้ขึ้นต่อสู้นางสมหญิงได้หรือไม่ 

เมื่อชายและหญิงแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันแล้วอย่างถูกต้องตามกฏหมาย  จะเบื่อหน่าย  ขัดใจกันอย่างไร  ก็ไม่มีสิทธิที่อีกฝ่ายจะคบหากับชายหรือหญิงอื่นฉันสามีภริยา  จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ตกลงให้อิสระภาพแก่กันด้วยการหย่าเสียก่อน  ดังนั้นเมื่อนายสมชายพบว่านางสมหญิงคบหากับชายอื่น  นายสมชายมีสิทธิที่จะขอหย่า  ถ้านางสมหญิงไม่ยอมหย่า  นายสมชายมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าและเรียกค่าเสียหายจากนายสมหญิงภริยา  นายสามชายชู้ได้  
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
http://www.kodmhai.com/Pickodmhai/Spac1.gif(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้



มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม มาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
 สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และ ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตน มีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
 
            แต่ปรากฏว่า  นายสมชายก็ไม่ได้กระทำเช่นนั้น  แต่นายสมชายเลือกที่จะใช้วิธีที่กฏหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่ตนคือ  คบหากับนางสาวสี่และมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยา  แน่นอนว่า  การกระทำของนายสมชายจึงเป็นเหตุให้นางสมหญิงสามารถที่จะฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนทั้งจากนายสมชายและนางสี่ได้เช่นเดียวกัน
            ปัญหาว่า  ถ้านางสมหญิงฟ้องนายสมชายและนางสี่แล้ว  นายสมชายจะสามารถยกข้อต่อสู้พร้อมทั้งพยานหลักฐานที่ตนเคยจับได้ว่านางสมหญิงมีชู้มาต่อสู้ในศาลได้หรือไม่
            เหตุหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖  เป็นเหตุให้ฝ่ายที่ถูกกระทำละเมิดเป็นผู้ใช้สิทธิฟ้องหย่า ไม่ใช่เหตุให้จำเลยที่ถูกฟ้องนำมาใช้เป็นข้อต่อสู้ในคดีได้  ประเด็นในคดีฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) มีว่า  จำเลยทั้งสอง (สามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี  และชู้)  ได้กระทำการคบหากันฉันสามีภริยาหรือไม่  จำเลยจึงมีข้อต่อสู้ว่า ใช่หรือไม่ใช่  ไม่มีประเด็นให้จำเลยนำสืบว่าอีกฝ่ายก็มีชู้  หากจำเลยเห็นว่าอีกฝ่ายก็มีชู้เป็นการเสียหายแก่จำเลยอย่างไร  จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิยื่นฟ้องอีกฝ่ายเป็นคดีใหม่  ดังนั้น นายสมชายจึงไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่านางสมหญิงมีชู้ขึ้นต่อสู้  แม้ยกขึ้นต่อสู้ก็ไม่เป็นเหตุทำให้นายสมชายพ้นจากความรับผิดในคดีฟ้องหย่าได้
            ปัญหาว่า นายสมชายมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานที่ตนเคยเก็บไว้ได้ฟ้องนางสมหญิงและนายสามหรือไม่   ต้องพิจารณาตามข้อยกเว้นที่จะทำให้นายสมชายไม่สามารถใช้สิทธิฟ้องนางสมหญิงได้คือ นายสมชายได้ให้อภัยแก่นางสมหญิงแล้วหรือไม่  เมื่อทราบความว่านางสมหญิงคบชู้จึงมิได้ทำการฟ้องหย่าเสียตามกฏหมาย

มาตรา 1518 สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้ กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็น เหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว 

การที่นายสมชายทราบเรื่องการมีชู้ของนางสมหญิง  และได้ทำการสอบสวนถามความจากนางสมหญิงแล้ว แม้จะมิได้ติดใจฟ้องร้อง  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านายสมชายได้ให้อภัยแก่การกระทำของนางสมหญิงชัดแจ้งแล้ว  นายสมชายจึงยังมีสิทธิที่จะฟ้องร้องแก่นางสมหญิงและนายสามได้อยู่

คำพิพากษาฎีกาที่ 3596/2546 ศาลวินิจฉัยไว้ว่า หากโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันแล้วจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และร้องเรียนจำเลยที่ 2 ในการพิจารณาเลื่อนระดับของจำเลยที่ 2 ส่วนการที่โจทก์เห็นภาพถ่ายงานพิธีมงคลสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านหรือดำเนินการทางศาลก็ได้ความว่า ขณะจัดงานพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่อง แม้ต่อมาโจทก์เห็นภาพถ่ายดังกล่าวในภายหลังแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ยังไม่พอฟังว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้  อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีเหตุฟ้องหย่าเพราะภริยายินยอมให้สามียกย่องอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาได้ก็ตาม แต่เหตุฟ้องหย่าในกรณีอื่นก็ยังอาจมีได้ เช่น กรณีทะเลาะโต้เถียงกันหากรุนแรงถึงขั้นเป็นการหมิ่นประมาท หรือถึงขั้นที่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง เช่น รุนแรงถึงขั้นโดนทำร้าย ด่าขับไล่ ฯลฯ ก็อาจจะเป็นเหตุฟ้องหย่าเพราะเหตุนี้ได้.

            แต่ถ้าภายหลังจากที่นายสมชายจับได้ว่านางสมหญิงมีชู้  นายสมชายก็ยังอยู่กินกับนางสมหญิงตามปกติ      มีความสัมพันธ์หลับนอนกันฉันสามีภริยากันตามปกติ  ไม่มีความบาดหมางใจ  ยังพานางสมหญิงไปเที่ยวยังที่ต่างๆ  พฤติการณ์เช่นนี้  อาจถือว่า นายสมชายได้ให้อภัยต่อนางสมหญิงแล้ว  เหตุฟ้องหย่าของนายสมชายที่จะฟ้องหย่านางสมหญิงได้จึงหมดไป  เมือนายสมชายเป็นฝ่ายก่อเหตุให้นางสมหญิงใช้สิทธิฟ้องหย่า  นายสมชายจะฟ้องกลับนางสมหญิงด้วยข้อหาว่านางสมหญิงมีชู้นั้นมิได้เลย
            และถ้านายสมชายถูกศาลพิพากษาให้หย่าจากนางสมหญิงด้วยเหตุมีชู้  หรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา  นายสมชายจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่นางสมหญิงด้วย 

มาตรา 1525 ค่าทดแทนตาม มาตรา 1523 และ มาตรา 1524 นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่ง ชำระเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ 
 ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาล คำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรส เพราะ การหย่านั้นด้วย 

มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่าง สมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่า เลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และ มาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดี หย่านั้น

แต่ถ้าต่อมาปรากฏว่านางสมหญิงได้สมรสใหม่  สิทธิในการได้รับค่าเลี้ยงชีพนั้นย่อมสิ้นสุดลง
มาตรา 1528 ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อม หมดไป 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น