วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

ผลธรรมดา มาตรา ๖๓




ในเรื่องของผลธรรมดาตามมาตรา  ๖๓  นี้เป็นเรื่องที่นักเรียนกฎหมายมีความเข้าใจน้อย สับสน และไม่ชัดเจน   บทความนี้อาจจะทำให้นักเรียนกฎหมายมีความเข้าใจชัดเจนขึ้น

มาตรา ๖๓   ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นได้
สังเกตว่า  กฎหมายต้องการเรื่อง "ผล"  จึงใช้คำว่า  ถ้าผลของการกระทำความผิดใด...
ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษ "หนักขึ้น"
ชื่อว่า "ผลธรรมดา" เป็นผลที่ไม่ธรรมดา เพราะถ้าผลที่เป็นธรรมดา ใช้ทฤษฎี "ผลโดยตรง" ก็เพียงพอ แต่ถ้าผลที่เกิดขึ้นไม่ธรรมดา คือผิดไปจากเจตนาหลักและผลนั้นเองทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น จึงจะวินิจฉัยด้วย "ผลธรรมดา"

จากความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา  ๒๙๕  ผลเป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา ๒๙๗  ต้องอาศัยมาตรา  ๖๓  ในการวินิจฉัย  เพราะ  ๒๙๗ เป็นบทหนักของ ๒๙๕ (อยู่ในหมวดเดียวกัน)

จากความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา ๒๙๕  ผลถึงตาย ตามมาตรา ๒๙๐  ใช้เพียงทฤษฎีผลโดยตรง  ไม่ต้องวินิจฉัยด้วยมาตรา  ๖๓  เพราะ  ๒๙๐  มิใช่บทหนักของ ๒๙๕
(เป็นความผิดคนละหมวดกัน)

ถ้าเกิดเหตุแทรกแซง  ให้วินิจฉัยด้วยทฤษฎีมูลเหตุที่เหมาะสม เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผลว่าขาดกันหรือไม่ ต้องรับผิดเพียงผลใด โดยพิจารณาว่า เหตุแทรกแซงนั้นวิญญูชนคาดหมายได้หรือไม่  ถ้าคาดหมายได้ก็ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น  ถ้าวิญญูชนคาดหมายไม่ได้  ก็ไม่ต้องรับผิด 

การพิจารณาบทเบาบทหนัก  ผลฉกรรจ์  จึงมีความสำคัญที่นักนิติศาสตร์ต้องทำความเข้าใจให้ขาด  ว่าสิ่งไรเป็นเหตุฉกรรจ์  สิ่งไรเป็นผลฉกรรจ์  (เหตุฉกรรจ์ไม่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้)

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ศาลฎีกาใช้คำว่า "ผลธรรมดา" แล้วทำให้เกิดความสับสน เพราะศาลหมายจะใช้คำว่า ผลอันเป็นธรรมดา คือเป็นความธรรมดา หรือเป็นผลโดยตรงนั่นเอง แต่ศาลก้าวล่วงไปใช้คำว่า "ผลธรรมดา" ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็น "ผลธรรมดาตามมาตรา ๖๓" ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะมาตรา ๒๘๘ ไม่ใช่บทหนักของใคร แต่เป็นบทที่มีความรับผิดที่เป็นเอกเทศโดยตรงของตัวเอง

.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2528
จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถูกที่ด้านหลัง กระสุนปืนตัดบริเวณไขสันหลังขาด ผู้ตายเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวจนจดเท้าและถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิงและภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรงหลังจากเกิดเหตุ 9 เดือนเศษ ดังนี้ผู้ตายถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิง แม้จะเนื่องจากการรักษาไม่ดีจนบาดแผลติดเชื้อ ก็เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา

 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายผิน โดยเจตนาฆ่านายผินถึงแก่ความตายเนื่องจากบาดแผลที่จำเลยกับพวกร่วมกันยิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓, ๒๘๘
จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓ ลงโทษจำคุก

จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าผู้ตายถูกยิงเพียงได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุเป็นเวลาถึง ๙ เดือนเศษ เพราะบาดแผลติดเชื้อมิใช่ถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกยิงโดยตรงนั้น เห็นว่า ผู้ตายถูกยิงและถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิง แม้จะเนื่องจากการรักษาไม่ดีจนบาดแผลติดเชื้อ ก็เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย เมื่อจำเลยร่วมกับพวกยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาพิพากษายืน.



อธิบายฎีกา
เมื่อจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย ผลคือผู้ตายถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นผลโดยตรงตามเจตนาของจำเลย ไม่จำต้องนำเอามาตรา ๖๓ มาวินิจฉัย แต่ควรใช้ทฤษฎี ผลโดยตรง ประกอบเหตุแทรกแซง ซึ่งวิญญูชนคาดหมายได้ (วิญญูชนย่อมคาดหมายได้ว่า เมื่อเป็นแผลแล้วแผลจะติดเชื้อ) ตามคำพิพากษาฎีกานี้ ถ้าจะใช้ให้ถูกต้อง ต้องใช้ ทฤษฎี ผลโดยตรงประกอบเหตุแทรกแซง เพื่อวินิจฉัยในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผล ที่เหตุแทรกแซงดังกล่าวไม่ตัดผลของการกระทำ
ดูหมายเหตุท้ายฎีกา ของ ศ.ดร.เกรียติขจร วัจนะสวัสดิ์ ท่านเขียนไว้ชัดเจน ตรงตามหลักทฤษฎี
ฎีกาที่ 1478/2528 ข้อเท็จจริงว่าผู้ตายถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และตายหลังจากถูกยิง 9 เดือน ความตายเกิดจากบาดแผลที่ถูกยิง ซึ่งผู้ตายรักษาตัวไม่ดีจนแผลติดเชื้อ ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยรับผิดในความตายโดยให้เหตุผลว่า ความตาย "เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย" แลดูประหนึ่งว่าเป็นการใช้หลักผลธรรมดาตามมาตรา 63 ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของมาตรา 63 เพราะขณะยิงจำเลยก็เจตนาจะให้ผู้ถูกยิงตาย ในที่สุดผุ้ถูกยิงก็ตายสมเจตนาของจำเลยเมื่อไม่อยู่ในข่ายของมาตรา 63 จึงไม่ต้องพิจารณาหลัก"ผลธรรมดา" แต่ให้ดูว่าความตายอันเป็น "ผลโดยตรง" นั้นเกิดจากเหตุแทรกแซงที่คาดหมายได้หรือไม่ การที่ผู้เสียหายรักษาบาดแผลไม่ดีต้องถือว่าคาดหมายได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความตาย คำพิพากษาฎีกาที่ 1478/2528 จึงควรที่จะให้เหตุผลในทำนองว่า"จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 288 เพราะความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย" ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่าจะไปใช้หลักผลธรรมดา

http://lawdatabase.igetweb.com/index.php?mo=5&qid=500939

ฎีกาที่ 4563/2543 นี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่อง ผลโดยตรงได้เด็ดขาดชัดเจนมาก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ขณะเกิดเหตุผู้ตายกับนายไพศาลขึ้นไปบนอาคารโรงเรียนเพื่อร่วมประเวณีกัน ต่อมาจำเลยทั้งสามตามขึ้นไปนายไพศาลจึงได้ผละออกมาจากผู้ตายซึ่งไม่ได้สวมกางเกงยืนหันหลังติดลูกกรงระเบียง จำเลยที่ 1 ถอดกางเกงเดินเข้าไปหาผู้ตายหันหน้าชนกันกับผู้ตายเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ยินยอมโดยร้องว่าให้ศาลคนเดียวคนอื่นไม่เกี่ยว จำเลยที่ 1 พยายามจะข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ผู้ตายขัดขืนจนพลัดตกลงไปจากระเบียงอาคารโรงเรียนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ถอดกางเกงเดินเข้าไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่ผู้ตายไม่ได้สวมกางเกงและยืนพิงลูกกรงระเบียงซึ่งสูงเพียงกันโดยผู้ตายมิได้ยินยอมที่จะให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเรานั้น จำเลยที่ 1ย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้ตายหลบหลีกขัดขืนมิให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราแล้วอาจจะตกลงไปจากระเบียงอาคารโรงเรียนถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายดิ้นรนขัดขืนเพื่อมิให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราจนผู้ตายพลัดตกลงไปจากระเบียงอาคารโรงเรียนจนได้รับบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมา จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตายพยานฐานที่อยู่....

ความผิดในมาตรา ๒๘๘ ไม่มีวันที่จะเอามาตรา ๖๓ มาวินิจฉัยได้เลย เพราะไม่ใช่บทหนักหรือผลฉกรรจ์ของมาตราใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น