วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ธงคำตอบกฎหมายอาญาภาคทั่วไป (รปศ.)

ข้อ 1. นายเอก มีความแค้นกับนายโท ต้องการฆ่านายโท จึงลักลอบนำระเบิดเข้าไปวางในห้องเรียนที่มีนักศึกษาเรียนอยู่เป็นจำนวน 15 คน เมื่อถึงเวลาบรรยาย นายเอกกดระเบิดจากโทรศัพท์มือถือ ทำให้ระเบิดที่วางไว้นั้นเกิดระเบิดขึ้น นายโท และนักศึกษาทั้งหมดถึง ถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายเอก นายเอกรับผิดในการฆ่านายโท แต่ต่อสู้ว่าตนไม่ได้มีเจตนาฆ่านักศึกษาคนอื่นเป็นการเฉพาะ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร


กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและ ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทำนั้น

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเอกต้องการฆ่านายโท จึงลักลอบนำระเบิดเข้าไปวางในห้องเรียนและกดระเบิดจากโทรศัพท์มือถือ โดยประสงค์ต่อผลคือความตายของนายโท เมื่อระเบิดนั้นเกิดระเบิดขึ้น นายโทถึงแก่ความตายสมเจตนาของนายเอกแล้ว นายเอกต้องรับผิดฐานฆ่านายโทโดยเจตนาประสงค์ต่อผล
กรณีนักศึกษาทั้งหมดที่ถึงแก่ความตายเพราะการระเบิดดังกล่าว นายเอกจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาฆ่านักศึกษาคนอื่นเป็นการเฉพาะ หาได้ไม่ เพราะการที่นายเอกนำระเบิดไปวางไว้ในห้องเรียนซึ่งทราบดีว่า มีผู้อื่นร่วมเรียนอยู่ด้วย นายเอกย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า เมื่อระเบิดเกิดการระเบิดขึ้น ผู้อื่นจะถึงแก่ความตายไปด้วย นายเอกจึงต้องรับผิดต่อนักศึกษาทั้ง ๑๕ คนดังกล่าว ฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

จึงวินิจฉัยว่า นายเอกมีความผิดฐานฆ่านายโทโดยเจตนาประสงค์ต่อผล และฆ่านักศึกษาทั้ง ๑๕ คนโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น


ข้อ 2. นายธงชาติเป็นเด็กวัด มีนิสัยนักเลง เกเร วันเกิดเหตุ พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ เห็นนายธงชาติหยิบมีดไปด้วยรู้นิสัยศิษย์ จึงบังคับให้นายธงชาตินำมีดมาคืน แต่นายธงชาติไม่ยอม พระอาจารย์จึงเอาไม้ตะพดฟาดไปที่นายธงชาติหนึ่งที นายธงชาติไม่พอใจจึงเอามีดเล่มดังกล่าวแทงพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพ ดังนี้ นายธงชาติจะสามารถอ้างเหตุบรรเทาโทษใด ตามกฎหมายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุ อันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะ ลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใด ก็ได้


ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายธงชาติมีนิสัยนักเลง เกเร เมื่อพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ เห็นนายธงชาติหยิบมีดไป จึงบังคับให้นายธงชาตินำมีดมาคืน แต่นายธงชาติไม่ยอม พระอาจารย์จึงเอาไม้ตะพดฟาดไปที่นายธงชาติหนึ่งที เป็นการลงโทษที่ครูบาอาจารย์สามารถกระทำต่อศิษย์ได้ ไม่ใช่กรณีที่นายธงชาติถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่นายธงชาติเอามีดเล่มดังกล่าวแทงพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพนั้น นายธงชาติจะอ้างเหตุบรรดาลโทสะเพื่อบรรเทาโทษไม่ได้เลย

ดังนั้น นายธงชาติใม่สามารถอ้างเหตุบรรดาลโทสะเพื่อบรรเทาโทษใด จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 3. นายบุญมีต้องการฆ่านายบุญมา ทราบมาว่า นายบุญยืนมีเรื่องราวและเคียดแค้นนายบุญมาอยู่ด้วย จึงได้เตรียมปืน .38 บรรจุกระสุนไว้เรียบร้อยและนำไปให้นายบุญยืน พร้อมทั้งพูดจาชักชวนให้นายบุญยืน พูดส่อเสียดให้นายบุญยืนเกิดความเกลียดชังนายบุญมา นายบุญยืนจึงนำปืนดังกล่าวไปฆ่านายบุญมา ให้วินิจฉัยความรับผิดของนายบุญมีและนายบุญมา

ตอบ
กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญจ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้ กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสาม ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น


ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
นายบุญมีต้องการฆ่านายบุญมา ทราบมาว่า นายบุญยืนมีเรื่องราวและเคียดแค้นนายบุญมาอยู่ด้วย จึงได้เตรียมปืน .38 บรรจุกระสุนไว้เรียบร้อยและนำไปให้นายบุญยืน พร้อมทั้งพูดจาชักชวนให้นายบุญยืน พูดส่อเสียดให้นายบุญยืนเกิดความเกลียดชังนายบุญมาจนนายบุญยืนตกลงใจไปฆ่านายบุญมาตามคำยุยงของนายบุญมีนั้น นายบุญมีได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริม นายบุญมีจึงเป็นผู้ใช้ให้นายบุญยืนกระทำความผิด เมื่อนายบุญยืนนำปืนดังกล่าวไปฆ่านายบุญมา ตามที่นายบุญมียุยงดังกล่าว นายบุญมีจึงต้องรับโทษเสมือนตัวการ

จึงวินิจฉัยว่า นายบุญมี มีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาจากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 4. นายสร้อย นายสุข และนายสม ร่วมกันมาลักสายไฟที่โรงงานผลิตสายไฟของนายดำ เพื่อนำไปขาย โดยนายสร้อยและนายสุขปีนรั้วเข้าไปในโรงงาน จากนั้นนายสร้อยโยนทรัพย์ออกมากองไว้นอกรั้วโรงงานจนหมดเรียบร้อยแล้ว นายสร้อยและนายสุขจึงปีนออกมาเก็บทรัพย์ที่ลักมา แต่ก็ถูกจับได้เสียก่อน ยังไม่ทันได้นำสายไฟไปขาย ทั้งสามคน ต่อสู้ว่า การกระทำของตนเป็นเพียงความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ หาใช่ลักทรัพย์สำเร็จไม่ ดังนี้ ให้วินิจฉัยความรับผิดของทั้งสามคนดังกล่าว

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายาม กระทำความผิด

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
นายสร้อย นายสุข และนายสม ร่วมกันมาลักสายไฟที่โรงงานผลิตสายไฟของนายดำ โดยนายสร้อยและนายสุขปีนรั้วเข้าไปในโรงงาน จากนั้นนายสร้อยโยนทรัพย์ออกมากองไว้นอกรั้วโรงงานจนหมดเรียบร้อยแล้ว ทรัพย์ดังกล่าวได้เคลื่อนที่และอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะเอาไปได้แล้ว การลักทรัพย์ดังกล่าวสำเร็จแล้วหาใช้พยายามไม่
การที่นายสร้อยและนายสุขถูกจับได้เสียก่อน ยังไม่ทันได้นำสายไฟไปขาย ก็ไม่ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วกลับกลายเป็นพยายามอีก

จึงวินิจฉัยว่า นายสร้อย นายสุข และนายสม มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์เป็นความผิดสำเร็จ จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น


วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

กระทำชำเราภริยาเด็ก ไม่มีความผิด ม.276, 277

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ ได้มีการแก้ไขจากกฎหมายเดิม ให้มีผลเป็นการคุ้มครองบุคคล ไม่ว่าชายหรือหญิงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ หากแต่เป็นที่น่าแปลกใจของผู้เขียนว่า ทำไม มาตรา ๒๗๗ ว่าด้วยการกระทำชำเราเด็ก จึงไม่ได้รับการแก้ไขเสียให้สอดคล้องกัน บทความนี้ ผู้เขียนจึงขอนำมาตรา ๒๗๖ และ ๒๗๗ มาพิจารณาเปรียบเทียบ ทั้งแสดงความเห็นในฐานะนักวิชาการกฎหมายต่อกรณีการแก้ไขมาตรา ๒๗๖ และ ๒๗๗ ที่ไม่สอดคล้องกัน

ความแตกต่างระหว่างมาตรา ๒๗๖ เดิม กับ ๒๗๖ ที่แก้ไขใหม่

มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
Spac1การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
Spac1ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง หรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกันต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
Spac1ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้น ยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้

ความแตกต่างระหว่างมาตรา ๒๗๖ เดิม กับ ๒๗๖ ที่แก้ไขใหม่

ข้อ ๑. กระทำชำเราตาม ๒๗๖ เดิม หมายถึง จะต้องมีการร่วมเพศและสอดใส่อวัยวะเพศ โดยอวัยวะเพศชายจะต้องล่วงล้ำเข้าไปในช่องคลอดของหญิงเท่านั้น

กระทำชำเราตาม ๒๗๖ ใหม่ หมายถึง รวม การใช้วัตถุ สิ่งของอื่นแทนการใช้อวัยวะเพศชายในการข่มขืน ต่อไปความผิดฐานอนาจารก็ไม่มีที่ใช้ เพราะการกระทำอย่างใดๆ ก็สามารถอยู่ภายใต้ความหมายของกระทำชำเราได้ทั้งสิ้น เป็นการใช้กฎหมายอาญาในลักษณะหว่านแห ผิดต่อหลักการของการใช้กฎหมายอาญาเป็นอย่างมาก

คำว่า ผู้อื่นตาม ๒๗๖ ใหม่ รวมถึง ชายกระทำต่อชาย หรือหญิงกระทำต่อชาย หรือหญิงกระทำต่อหญิงได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยความเป็นตัวการร่วม

ข้อ ๒.กระทำชำเราตาม ๒๗๖ เดิม มิได้บัญญัติถึงการสนองความใคร่ของผู้ใด

กระทำชำเราตาม ๒๗๖ ใหม่ บัญญัติกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นปัญหาว่า ถ้าหากว่าถ้าจำเลยแก้ตัวว่ากระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เช่นช่วยจับแขนขาหรือดูต้นทาง ต้องปรับด้วยตัวการหรือผู้สนับสนุน หรือถ้าจำเลยต่อสู้ว่า ตนมิได้กระทำเพื่อสนองความใคร่ของตน แต่สนองความใคร่ของผู้ถูกกระทำ จะพิพากษาคดีนี้อย่างไร

ข้อ ๓. มาตรา ๒๗๖ เดิม บัญญัติแต่เรื่องการกระทำโดยมีหรือใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิด หรือโทรมหญิง

มาตรา ๒๗๖ ใหม่ ได้บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นโทรมชายลงไปเพิ่มเติมด้วย

ข้อ ๔. มาตรา ๒๗๖ เดิมไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้

มาตรา ๒๗๖ ใหม่ ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้น ยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้ ปัญหาว่า พนักงานอัยการคงต้องอาศัยมาตรา ๑๕๑๖ (๖) เรื่องการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรงเพื่อฟ้องอย่า และเมื่อฟ้องอย่าแล้วก็ต้องมีการแบ่งสินสมรสซึ่งคงจะเป็นจุดอ่อนและกระเทือนต่อสถาบันครอบครัวพอสมควร และหากครอบครัวนั้นมีลูกก็ต้องมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูบุตรให้ศาลต้องตามแก้อีก อีกทั้งโดยปกติการฟ้องหย่าเป็นเรื่องทางแพ่ง ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เพราะพนักงานอัยการคือผู้รักษากฎหมาย ทนายของแผ่นดินที่มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาเพื่อความสุขสงบของประชาชนในบ้านเมืองโดยรวม ไม่ใช่ของเอกชนคนใดคนหนึ่ง การที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเช่นนี้ เท่ากับเป็นการผลักดันพนักงานอัยการให้ต้องทำคดีแพ่งให้แก่เอกชนด้วยหรือไม่ เป็นข้อที่ต้องพิจารณา

เนื่องจากมาตรา ๒๗๖ ที่แก้ไขใหม่ ส่งผลให้การข่มขืนภริยาเป็นการกระทำความผิด เท่ากับการข่มขืนผู้อื่น (แล้วใครจะข่มขืนภริยา ข่มขืนผู้อื่นก็ผิดเท่าข่มขืนภริยา) แต่ปรากฏว่า มาตรา ๒๗๗ ในส่วนของการข่มขืนภริยาเด็ก (อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี) ยังไม่ได้รับการแก้ไข

มาตรา
277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอม หรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำ ต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป

ดังนั้น ถ้ากระทำชำเราแก่ภริยาเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี แม้เด็กซึ่งเป็นภริยาจะไม่ยินยอม ก็สามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิด จนกว่าภริยาเด็กนั้นจะมีอายุเกิน ๑๕ ปี จึงจะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗๖ ที่ทำให้การข่มขืนภริยามีความผิด ปัญหานี้ นักกฎหมายบางท่าน จะใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการนำมาตรา ๒๗๖ มาใช้กับกรณีข่มขืนภริยาเด็ก ให้ปรับเข้าด้วย ๒๗๖ เพราะถือว่าเป็นการข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น เช่นกัน โดยส่วนตัวของข้าพเจ้า เห็นว่า การกระทำเช่นนั้นจะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ห้าม
Analogy และด้วยมาตรา ๒๗๗ เป็นบทเฉพาะที่ใช้กับเด็ก ไม่ใช่บททั่วไปที่ใช้กับบุคคลทั่วไป เพราะมีโทษหนักกว่า จึงไม่สามารถนำมาตรา ๒๗๖ มาปรับใช้แก่กรณีนี้ได้

หมายเหตุ ที่มาตรา ๒๗๗ ใช้คำว่า "กระทำชำเรา" โดยไม่มีคำว่า "ข่มขืน" เพราะว่า การชำเราเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยขืนใจเด็กหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นความผิดทั้งสิ้น

บทความนี้ ข้าพเจ้าในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้เพื่อศึกษาการแก้ปัญหาทางกฎหมายต่อไปในอนาคต และขอแสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้อย่างสิ้นเชิง

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม ม.209 210 215

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่
มาตรา 20
9 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้นผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

- เป็นสมาชิกของคณะบุคคล

- ซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ

- มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

คณะบุคคล คือ การรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป

สมาชิก ต้องมีสิทธิในที่ประชุม (ร่วมปรึกษาหารือลงคะแนนเสียง)

ฎีกาที่ ๓๐๑-๓๐๓/๒๔๗๐ ตกลงกันว่าหากพรรค พวกต้องคดีจะไปช่วยเป็นพยานเท็จให้ และจะออกเงินส่งเสียสมาชิกที่ต้องหาในคดีอาญา การช่วยเป็นพยานเท็จถือว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

ฎีกาที่ ๑๑๗๖/๒๕๔๓ จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังอาวุธโจรก่อการร้ายกระบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ เรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงมีความผิดฐานอั้งยี่

ความผิดสำเร็จเมื่อเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลไม่จำเป็นต้องกระทำการสำเร็จตามความมุ่งหมายนั้น


ความผิดฐานเป็นซ่องโจร
มาตรา 210
ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

- สมคบกันตั้งแต่ คนขึ้นไป

- เพื่อกระทำความผิดในภาค ๒ นี้

- ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ ปีขึ้นไป

สมคบ คือ การร่วมคบคิดกัน (ตามพจนานุกรม) คำว่าสมคบไม่มีในคำนิยาม แต่ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 6 ข้อ 8 ได้ให้นิยามคำว่า สมคบ ว่า ถ้าบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สมรู้ด้วยกันเพื่อจะกระทำผิด ท่านว่าคนเหล่านั้นสมคบกัน ท่านอาจารย์สถิตย์ ไพเราะ ท่านได้ให้ความเห็นเป็นข้อสังเกตไว้ว่า น่าจะนำหลักเรื่องตัวการร่วมกันกระทำความผิดมาตรา 83 มาเทียบเคียงในการตีความได้ ดังนั้น ถ้าบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปแสดงออกซึ่งความตกลงที่จะกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นการสมคบกันแล้ว

ฎีกาที่ 2829/2526 การสมกันเพื่อกระทำความผิด ต้องมีการแสดงออกซึ่งความตกลงที่จะกระทำผิดร่วมกัน มิใช่เพียงแต่มาประชุมหารือกันโดยมิได้ตกลงอะไรกันเลยหรือตกลงกันไม่ได้

ฎีกาที่ 4986/2533 ความผิดฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 นั้นผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำ ความผิด กล่าวคือจะต้องมีการร่วมคบคิดกันหรือแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำความผิดร่วมกันในระหว่างผู้กระทำผิดด้วยกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เพียงแต่ร่วมเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อ โดยเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น จึงเป็นลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 1,2,3 และ 5 มิได้คบคิดกันว่าจะกระทำความผิดร่วมกันรับของโจร จึงไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจร

ฎีกาที่ 2429/2528 จำเลยกับพวกรวม 10 คน จับกลุ่มวางแผนจะใช้ตลับยาหม่องครองเหรียญพนันบนรถโดยสารประจำทาง โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นคนใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญแล้วให้จำเลยอื่นเป็นหน้าม้าแทง จำเลยที่ 1 แจกเงินให้จำเลยอื่นทุกคนเพื่อนำไปแทง ใครได้เสียเท่าไหร่ให้จำไว้ เมื่อเลิกเล่นแล้วจะคืนให้หมด จำเลยอื่นขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารประจำทาง ส่วนจำเลยที่ 5 รออยู่ที่สถานีขนส่ง เมื่อรถยนต์โดยสารออกจากสถานีขนส่ง จำเลยที่ 1 ก็เริ่มเล่นการพนันกัน แล้วชักชวนผู้โดยสารมาแทง อันเป็นการสมคบกันเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริต

อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 5 จะมิได้ขึ้นไปบนรถโดยสารด้วยแต่รออยู่ที่สถานีขนส่งแล้วจะขับรถตามมารับพวกจำเลยเมื่อเลิกเล่นกันแล้ว อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลย

ที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 5 จึงเป็นความผิดฐานซ่องโจร

- เพื่อกระทำความผิดในภาค ๒ นี้

มาตรา 210 จำกัดเฉพาะความผิดในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 นี้ เท่านั้น การกระทำผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดตาม พรบ.ยาเสพติด ฯลฯ ไม่อยู่ในองค์ประกอบข้อนี้ แต่อาจเป็นความผิดฐานอั้งยี่ได้

- ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ปีขึ้นไป

ให้ดูในระวางโทษของแต่ละมาตรา

ถ้ามีการสมคบกันกระทำความผิด และได้กระทำความผิด ไม่ว่าจะกระทำได้สำเร็จหรือไม่ก็ตามความผิดฐานซ่องโจรก็สำเร็จลงแล้ว ถ้าได้กระทำความผิดตามที่สมคบกัน ก็จะเกิดความผิดขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง เป็นกรณีกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ฎีกาที่ 4548/2540 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คนวางแผนกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนแม้ไม่ได้ไปปล้นด้วยก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการ

ร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตาม ปอ. มาตรา 213 และ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวกจำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจร เพื่อจะไปปล้นทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ฎีกาที่ 1719/34 จำเลยกับพวกรวมห้าคนปรึกษากันว่าจะไปปล้นรถจักรยานยนต์เป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิด และการกระทำความผิดที่สมคบกันเพื่อจะไปกระทำนั้นเป็นการปล้นทรัพย์ อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ . ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 วรรคสอง

ความผิดฐานมั่วสุม ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มั่วสุม

- ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป

- ก. ใช้กำลังประทุษร้าย

ข. ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

ค. กระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

คำว่า มั่วสุม หมายความว่า ชุมนุมกัน

ฎีกาที่ ๗๗๒/๒๔๘๒ การมั่วสุมไม่จำต้องนัดหมายร่วมกันมาก่อน แต่การกระทำตอนใช้กำลังประทุษร้าย ต้องกระทำด้วยความประสงค์ร่วมกัน เช่น การเดินขบวนประท้วงใช้ความรุนแรงต่าง ๆ

ฎีกาที่ ๒๓๘๗/๒๕๓๖ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำและสั่งการในการนัดหยุดงานของลูกจ้างประมาณ ๓๐๐คน การนัดหยุดงานดังกล่าว มิได้เป็นไปตามขั้น ตอนและเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงาน สัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ แต่เพื่อต่อรองบีบบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน เมื่อปรากฏว่า มีการปะทะและทำร้ายซึ่งกันและกันระ หว่างลูกจ้างที่นัดหยุดงานและลูกจ้างที่ประสงค์จะเข้าทำงาน เข้าออก ได้มีการขว้างปาวัตถุก้อนดินเข้าไปในโรงงาน เหตุเกิดริมถนนสาธารณะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐาน ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

วรรคสอง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ร่วมกระทำผิดต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก ปัญหาว่า คำว่า มีอาวุธ คนอื่น ๆ ที่ร่วมในการมั่วสุมต้องรู้หรือไม่ และจะถูกลงโทษตามวรรคสองหรือไม่นั้น ขออธิบายว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่าผู้ร่วมกระทำความผิดต้องรู้ ดังนั้นแม้ผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นไม่รู้ก็ต้องรับผิดด้วย แต่หากว่าเผอิญคนที่พกพาอาวุธไปนั้นได้ใช้อาวุธในการทำร้ายผู้อื่น การใช้อาวุธทำร้ายผู้อื่นเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำผิดคนอื่นจึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งความตายนั้นด้วย ส่วนในข้อหาพาอาวุธเข้าไปในเมืองตามมาตรา ๓๗๔ นั้นเอาผิดเฉพาะผู้พาอาวุธ ผู้ร่วมกระทำผิดไม่ต้องรับผิดส่วนนี้ด้วย คงรับเฉพาะวรรคสองแห่งมาตรา ๒๑๔ เท่านั้น

ผู้กระทำความผิดเกิน สิบคน จะทำให้เราวินิจฉัยยาก เพราะจะสามารถเป็นได้ทั้งอั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม หลักการวินิจฉัยคือ
๑. ให้ดูก่อนว่า เป็นการรวมตัวกันในลักษณะถาวรหรือไม่ ถ้าถาวร เป็นสมาคม จะเป็นอั้งยี่ ถ้าไม่ถาวร อาจเป็นได้ทั้งซ่องโจร และมั่วสุม (ไม่ถาวรคือ รวมกันเฉพาะกิจครั้งใดครั้งหนึ่งเท่านั้น)
๒. ถ้าการรวมตัวมีลักษณะไม่ถาวร ให้ดูว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาภาคสองหรือไม่ ถ้าใช่ เป็นซ่องโจร ถ้าเป็นความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ชุมนุม พรบ.จราจร (แข่งรถ) เป็นมั่วสุม

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ร่าง พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์


ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้ คือภาพของหญิงคนหนึ่ง ซื้อสัตว์มาจากพ่อค้าสัตว์ที่ค้าสัตว์เพื่อทารุณกรรม ดูความตายของสัตว์ เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ขอผู้มีจิตเป็นโทสะอย่างแรง มีปฏิฆะ มีความอาฆาต แล้วไม่สามารถกระทำต่อผู้อื่น หรือตนเป็นผู้ถูกกระทำในโลกความเป็นจริง จึงได้หาทางระบายออกโดยกระทำต่อสัตว์ที่ไม่มีทางสู้

อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

http://news.108dog.com/dognews/43.php

และคลิปที่ท่านจะเห็นต่อไปนี้ เป็นคลิปการทรมานสัตว์เพื่อการค้า ที่โหดร้ายผิดมนุษย์ เกินกว่าจิตใจของมนุษย์จะกระทำต่อสัตว์ที่ไม่มีทางสู้ได้

http://www.clipmass.com/movie/117535502213685

แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีการจับสุนัขและแมวไปทำทารุณกรรมเพื่อการบริโภคเป็นอันมาก จนเป็นข่าวโด่งดังสะเทือนใจผู้คนในสังคม เห็นเป็นการสมควรแล้วที่ผู้คนในสังคม ควรจะหันมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ผู้เขียนเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ในส่วนของพฤติกรรมที่ชื่อว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์เหล่านี้เหมาะสม และน่าสนใจในเนื้อหา จึงได้นำมาประกอบบทความให้ได้ศึกษากัน

มาตรา ๑๓ การกระทำดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์

(๑) การเฆี่ยน ทุบตี ฟัน แทง เผา ลวก หรือการกระทำการอื่นใด ซึ่งมีผลทำให้สัตว์เจ็บปวด หรือพิการในลักษณะที่ได้รับทุกข์เวทนา หรือตาย

(๒) ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้งานอันไม่สมควรแก่ประเภท และสภาพของสัตว์ โดยเฉพาะเมื่อสัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา อ่อนอายุ ใกล้คลอด หรือพิการ

(๓) ใช้ยาหรือสารอันตรายต่อสัตว์ โดยประสงค์ให้สัตว์ได้รับอันตรายหรือความทุกข์ทรมาณ

(๔) ใช้พาหนะที่ไม่เหมาะสมแก่การขนส่ง หรือเคลื่อนย้ายสัตว์ ทำให้สัตว์ต้องได้รับความทุกข์ทรมาณ บาดเจ็บ หรือตาย

(๕) เลี้ยงหรือกักขังสัตว์ในที่แคบ ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาณ บาดเจ็บ หรือตาย

(๖) นำสัตว์ที่เป็นอริกันมาไว้ในที่เดียวกัน

(๗) พรากแม่พรากลูกสัตว์ที่ยังไม่หย่านม เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็น

(๘) ทอดทิ้งสัตว์เพื่อให้พ้นภาระ

(๙) ทำให้สัตว์ต้องได้รับความทุกข์ทรมาณ หรือตาย จากการอดอยากขาดอาหาร น้ำหรือการพักผ่อน

(๑๐) เจ้าของสัตว์ไม่ดูแลรักษา ยามสัตว์เจ็บป่วย

(๑๑) ใช้ยาพิษหรือสารพิษเพื่อให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาณหรือตาย

(๑๒) กระทำการใดๆ ให้สัตว์ต้องเสียรูปหรือพิการโดยไม่จำเป็น

(๑๓) การนำสัตว์มาต่อสู้กันหรือประลองกำลังกัน โดยไม่ได้รับอนุญาติ

(๑๔) กระทำ หรือ ฆ่าสัตว์ หรือทำร้ายสัตว์ โดยลุแก่โทสะ

(๑๕) พันธนาการสัตว์เป็นเวลานานเกินความจำเป็น ด้วยเครื่องพันธนาการที่ไม่เหมาะสม

(๑๖) ใช้สัตว์เลือดอุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเหยื่อ หรือเป็นอาหารสัตว์อื่น

(๑๗) บริโภคสัตว์ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่

(๑๘) สังวาส หรือใช้สัตว์กระกอบกามกิจ

(๑๙) ใช้สัตว์ทำงานหรือประกอบกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

(๒๐) สนับสนุนหรือมีส่วนให้ผู้อื่นกระทำการทารุณกรรม

การจัดสวัสดิภาพสัตว์

มาตรา ๑๔ เจ้าของสัตว์ต้องจัดสวัสดิภาพ ให้สัตว์ตามชนิด ประเภท ลักษณะ และอายุของสัตว์ ทั้งนี้ ตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๑๕ การดำเนินการดังต่อไปนี้ ผู้ดำเนินการต้องจัดการสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๑) การเลี้ยงสัตว์

(๒) การฝึกและใช้สัตว์

(๓) การขนส่งสัตว์

(๔) การควมคุมและกักขังสัตว์

(๕) การฆ่าสัตว์

(๖) การนำสัตว์มาให้เป็นรางวัล

(๗) การใช้สัตว์เพื่อการแสดงหรือโฆษณา

(๘) การอย่างอื่นตามความเหมาะสมของสัตว์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะ และอายุของสัตว์นั้นๆ

มาตรา ๑๗ การฆ่าสัตว์ต้องกระทำให้สัตว์ตายอย่างสงบ รวดเร็ว และเจ็บปวดน้อยที่สุด และต้องไม่กระทำในที่สาธารณะหรือต่อหน้าผู้เยาว์ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

From :สมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย)