วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล 4 การสิ้นสภาพบุคคล

การสิ้นสภาพบุคคล

มาตรา 15

สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก สิ้นสุดลงเมื่อตาย

การสิ้นสภาพบุคคลโดยการตายแบ่งออกเป็น 2 กรณี

1. กรณีตายธรรมดา คือ ตายจริง ๆ เป็นการสิ้นสภาพบุคคลอย่างถาวร

1. การตายโดยผลของกฎหมาย คือ การสาบสูญ

ทำไมต้องศึกษาเรื่องความตาย

การตายเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งสิ้นสุดสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ และการตายของบุคคลหนึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดสิทธิแก่บุคคลอื่นได้

ก. การจ้างแรงงานซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวนายจ้าง ย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง (584)

ข. ยืมใช้คงรูป ย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม (648)

ค. สัญญาตัวแทนย่อมระงับไปเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย (826)

ง. ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย (1055(5))

จ. สิทธิอาศัยสิ้นเมื่อผู้ได้สิทธิตาย (สิทธิอาศัยนั้นจะโอนมิได้แม้โดยทางมรดก (1404))

ฉ. ผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย สิทธินั้นย่อมสิ้นไปเสมอ (1418)

ช. การสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตาย (1501)

ซ. ความปกครองสิ้นสุดเมื่อผู้อยู่ในปกครองตาย (1598/6)

ฌ. ความเป็นผู้ปกครองสิ้นสุดลงเมื่อผู้ปกครองตาย (1598/7)

ญ. เมื่อบุคคลใดตายมรดกตกแก่ทายาท (1599)

การตายเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตาม ป.วิอาญา 39 (1)

โทษระงับเมื่อผู้กระทำความผิดตาย ปอ. ม. 38

ทำไมต้องศึกษาเรื่องเวลาตาย

มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรู้เวลาตาย หรือรู้ว่าใครตายก่อนตายหลังใคร กรณีนี้มักเกิดขึ้นในการตายหมู่ เมื่อมีผู้พบเหตุปรากฎว่าคนตายกันหมดแล้ว เราต้องรู้ว่าใครตายก่อนใครเพราะมีผลในการจัดสรรทรัพย์มรดก เช่น นายดำและนางแดงเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันคือ นายเอ และ นางสาวหนึ่ง ซึ่งนายเอจดทะเบียนสมรสกับ นางบี และมีบุตรด้วยกันคืน ด.ช. ซี ปรากฎว่า นายดำ นางแดง นายเอ เดินทางไปต่างจังหวัดด้วยกันประสบอุบัติเหตุรถคว่ำตายนายดำและนายเอถึงแก่ความตาย ปัญหาว่ามรดกของนายดำและนางแดง จะตกได้แก่ใคร

ถ้าปรากฎว่านายดำตายคนแรก มรดก ก็ตกได้แก่นางแดง นายเอ และนางสาวหนึ่ง

ทันทีที่นายดำตาย สมมุติว่านายดำมีมรดก 3 ล้านบาท ก็ตกแก่นางแดง นายเอ และนางสาวหนึ่งคนละ 1 ล้านบาท ต่อมานายเอตายตามนายดำไป มรดกส่วนที่นายเอได้รับมา 1 ล้านบาทเป็นทรัพย์สินของนายเอ จะตกได้แก่ทายาทของนายเอ คือนางบี และ ด.ช.ซี คนละ 5 แสนบาท

แต่ถ้าปรากฎว่านายเอตายก่อนนายดำ นายเอก็จะไม่ได้รับมรดกของนายดำ ดังนั้นถ้าต่อมานายดำตาย เงิน 3 ล้านก็จะได้แก่ นางแดงและนางสาวหนึ่ง และ ด.ช.ซี (โดยการรับมรดกแทนทีนายเอ) คนละ 1 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ นางบีจะไม่ได้รับส่วนแบ่ง แต่ด.ช. ซีจะได้ไปคนเดียว 1 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันทรัพย์สินในส่วนของนายเอ ก็ต้องนำมาแบ่งให้ทายาทคือนายดำ นางแดง นางบี และด.ช.ซี สมมุติว่านายเอมีทรัพย์สิน 4 ล้านบาท ก็ต้องแบ่งกันคนละ 1 ล้านบาท ต่อมานายดำตาย ทรัพย์สินของนายดำเดิมมี 3 ล้านรวมกับส่วนของนายบีอีก 1 ล้านก็กลายเป็น 4 ล้าน เมื่อนายดำตายแล้วจึงจะตกได้แก่นางแดง นางสาวหนึ่ง และด.ช. ซี (โดยการรับมรดกแทนที)

ดังนี้คือความสำคัญของลำดับแห่งการตาย ทำการศึกษากันต่อว่าถ้าเราไม่รู้ว่าใครตายก่อนตายหลังจะทำยังไง กรณีนี้กฎหมายหาทางออกไว้ให้ในมาตรา 17

มาตรา 17 ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง ให้ถือว่าตายพร้อมกัน

จากตัวอย่างเดิม ถ้าเราไม่รู้ว่านายดำกับนายเอใครตายก่อนกัน ก็ต้องถือว่าตายพร้อมกัน ดังนั้น มรดกของใครก็แบ่งของมันไป ของนายดำก็ได้แก่นางแดง นางสาวหนึ่ง

เด็กชายซีจะไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้ เพราะไม่ใช่กรณี ทายาทตาม 1629 (1) ตายก่อนเจ้ามรดก (ดูหลักเรื่องรับมรดกแทนที่ 1639) ส่วนมรดกของนายเอ ก็ได้แก่นางบี และเด็กชายซี

ข้อควรระวัง มาตรา 17 นี้จะนำมาใช้ได้ต่อเมื่อบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน เช่น รถสองคันชนกัน คนขับรถตายทั้งสองคัน ดังนี้แม้อยู่คนละคันก็ถือว่าเป็นภยันตรายร่วมกัน และต้องเป็นการพ้นวิสัยคือไม่สามารถรู้ได้หรือตรวจสอบได้แน่นอนว่าใครตายก่อนหรือตายหลัง ดังนี้ถ้าไม่ใช่เหตุภยันตรายร่วมกัน หรือ สามารถรู้ได้ว่าใครตายก่อนตายหลังจะนำมาตรา 17 มาใช้วินิจฉัยไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น