วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล 3 การนับอายุของบุคคล

เหตุที่ต้องรู้อายุของบุคคลก็เพราะกฎหมายแพ่งได้กำหนดเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมไว้ โดยบัญญัติให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะเท่านั้นสามารถทำนิติกรรมได้โดยสมบูรณ์ ซึ่งบุคคลจะบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
หรือในทางอาญา อายุของบุคคลมีความสำคัญในการกำหนดโทษหรือความรับผิดทางอาญา เช่น
- เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ (ม. 73)
- เด็กอายุกว่า 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี กระทำความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลดำเนินการบางอย่างเพื่อตักเตือน ควบคุมความประพฤติ (ม. 74)
- ผู้มีอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี กระทำความผิด ศาลจะลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าเห็นสมควรลงโทษก็ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง (ม.75)
- ผู้มีอายุกว่า 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กระทำความผิด ศาลจะลดโทษให้หรือไม่ก็ได้ ถ้าลดก็ให้ลดลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่ง (ม. 76)
หรือในการกำหนดขอบอำนาจศาล วิธีพิจารณาคดีเด็ก ม. 4 โดยกำหนดว่า เด็กคือผู้ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี บริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 14 เยาวชนคือผู้มีอายุเกิน 14 แต่ไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ เมื่อกระทำความผิด ต้องพิจารณาคดีนั้นยังศาลเยาวชนและครอบครัว
ดังนั้นจึงถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้อายุของบุคคล แต่หากว่าเราไม่สามารถ
รู้วันเดือนปีเกิด ของบุคคลที่แน่นอนแล้วเราจะคำนวนอายุของเขาอย่างไร
มาตรา 16 การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด
เช่น เด็กหญิงแอม เกิดวันที่ 17 กันยายน 2536 ดังนี้ เด็กหญิงแอมจะอายุครบ 20 ปีในวันที่ 16 กันยายน 2556
แต่ถ้าเราไม่รู้วัน เดือน ปี ที่แน่นอน กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
1. กรณีไม่รู้วันเกิดแต่รู้เดือนเกิดและปีเกิด เช่น รู้ว่าเด็กหญิงแอมเกิดเดือนกันยายน พ.ศ. 2536 กฎหมายกำหนดให้เด็กหญิงแอม เกิดวันที่ 1 กันยายน 2536 (วันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด) เด็กหญิงแอมจะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 31  สิงหาคม 2556
2. กรณีไม่รู้วันและเดือนเกิดแต่รู้ปีเกิด เช่น รู้ว่าเด็กหญิงแอมเกิดปี 2536 กฎหมายกำหนดให้เด็กหญิงแอมเกิดวันที่ 1 มกราคม 2536 (วันต้นปีปฏิทินที่บุคคลนั้นเกิด) ดังนั้นเด็กหญิงแอมจะมีอายุครบ 20 ปี วันที่ 31 ธันวาคม 2555
3. กรณีไม่รู้วัน เดือน และปีเกิดเลย อันนี้ไม่ค่อยเกิด จากประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นเหมือนกันในปี 2464 เป็นการตัดสินตามคำพิพากษาฎีกาที่ 489/2464 โดยสอบถามผู้ใกล้ชิดว่าน่าจะเกิดในปีใด หรือถ้าในสมัยนี้อาจตรวจสอบทางการแพทย์ได้ เมื่อทราบแล้วว่าเกิดในปีใด จึงค่อยปรับตาม ข้อ 2


คำพิพากษาฎีกาที่ 7841/2552

พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่
โจทก์
นายประวิทย์หรือส้อแหละ งานแข็ง กับพวก
จำเลย




ป.พ.พ. มาตรา 16 บัญญัติว่า การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2532 จึงต้องนับอายุแต่วันเกิดคือนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2532 เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/5 คดีได้ความว่า เหตุเกิดวันที่ 5 มีนาคม 2547 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ดังนั้นขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุเกินกว่า 15 ปีบริบูรณ์แล้ว กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 และ 317

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น