วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความรับผิดทางอาญา ตอนที่ 4 เจตนา

อรหันต์ด่านที่ 4 ของความรับผิดทางอาญาจะเป็นเรื่องของเจตนา ซึ่งผู้เรียนและแม้กระทั่งนักกฎหมายเองก็มีความเข้าใจผิด นำเอาเรื่องของเจตนามาพิจารณาการกระทำทางอาญาเป็นเรื่องแรก ซึ่งไม่ถูกต้อง หากทำเช่นนั้นจะทำให้การวินิจฉัยคดีต่างๆ ขาดความแม่นยำได้

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสอง ได้วางหลักเกี่ยวกับเรื่องของเจตนาไว้ดังนี้

มาตรา 59 กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและ ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทำนั้น

เมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมายแล้ว เจตนาต้องผ่านการกระทำเสียก่อน กล่าวคือต้องมีการกระทำเสียก่อนจึงจะพิจารณาเจตนา ไม่ใช่พิจารณาเจตนาเป็นอันดับแรกเลยเสียทีเดียว

เจตนานั้น แบ่งออกเป็นสองกรณี

๑. เจตนาโดยตรง ได้แก่เจตนาตามมาตรา 59 แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ประสงค์ต่อผล และ ย่อมเล็งเห็นผล

๒. เจตนาโดยผลของกฎหมาย ได้แก่ เจตนาโดยพลาด และกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า จะถือว่าไม่มีเจตนาหาได้ไม่ เช่น พลาดตามมาตรา 60 สำคัญผิดในตัวบุคคล 61

จะกล่าวเฉพาะเจตนาโดยตรง สองประเภทเท่านั้น คือ

ประสงค์ต่อผล หมายถึง ประสงค์ให้ผลร้ายนั้นเกิดขึ้น ผลที่เกิดตรงตามเจตนาที่ต้องการ เช่น ดำยกปืนเล็งยิงแดง โดยมีเจตนาฆ่า เพราะโกรธที่แดงโกงเงินดำ ดำประสงค์ต่อผลคือความตายของแด ดังนั้นความตายจึงเป็นผลของเจตนาโดยตรงประเภทนี้ หรือ สมศรีขับรถชนสมศักดิ์ ด้วยประสงค์ให้ตายเพราะเกลียดชังกันเป็นการส่วนตัว ความตายจากการขับรถชนเป็นผลของเจตนาโดยตรงประเภทนี้ อุปมาให้เข้าใจง่ายๆ เรียนหนังสืออยากได้อะไร อยากได้ความรู้ เป็นประสงค์ต่อผลของการเรียน ตรงไปตรงมา ได้ปริญญาคือประสงค์ต่อผลของการเรียนตรงไปตรงมา แต่ถ้าอยากได้แฟน ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่ผลของการเรียนหนังสือที่ผู้เรียนมีความประสงค์โดยตรง

เล็งเห็นผล หมายถึง เจตนาที่ไม่ได้ประสงค์ต่อผลที่จะให้เกิดแก่บุคคลนั้นโดยตรงแต่เล็งไดว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างแน่นอน เช่น ดำอยากยิงแดง เจอแดงอยู่บนรถเมล์ ดำจึงใช้ปืนลูกปราย ยิงใส่แดง กระสุนไปถูกแดงและผู้โดยสารบนรถอีกหลายคน
กรณีนี้จะเห็นได้ว่าคนทีดำประสงค์ต่อความตายคือแดงเท่านั้น ผู้โดยสารคนอื่นดำไม่ประสงค์ต่อความตายของเขาเลย แต่การที่ดำใช้ปืนที่มีลักษณะเป็นกระสุนลูกปราย ทำให้ผู้อื่นต้องมาตายด้วยนั้น เป็นการกระทำโดยเจตนา กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกของการกระทำนั้น และสามารถเล็งผลได้ว่า หากยิงออกไปแล้ว คนที่จะโดนกระสุนไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่ดำประสงค์ให้ตายเท่านั้น แต่เป็นบุคคลอื่นด้วย อันนี้เป็นลักษณะการกระทำโดยเล็งเห็นผล

ยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาเรื่องหนึ่ง อันนี้อธิบายทั้งสองเจตนาได้ชัดเจน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2543

จำเลยถอดกางเกงเดินเข้าไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่ผู้ตายไม่ได้สวมกางเกงและยืนพิงลูกกรงระเบียงอาคารซึ่งสูงเพียงระดับสะโพก โดยผู้ตายมิได้ยินยอม จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้ตายหลบหลีกขัดขืนมิให้ข่มขืนกระทำชำเราแล้วอาจจะตกลงไปจากระเบียงอาคารถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายดิ้นรนขัดขืนเพื่อมิให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราจนผู้ตายพลัดตกลงไปจากระเบียงอาคารจนได้รับบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมา จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำของจำเลยอันเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย

จากคำพิพากษาเรื่องนี้ เราจะเห็นฐานความผิดอยู่สองฐานความผิดคือ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา กับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น การที่จำเลยเข้าหาผู้ตาย จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลคือการข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ไม่ได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายมาก่อน การที่ผู้ตายตกระเบียงตายจึงไม่ใช่เจตนาประเภทประสงค์ต่อผลที่จำเลยมีความต้องการต่อผู้ตายโดยตรง

แต่อย่างไรก็ดี การที่จำเลยไล่ต้อนผู้ตายไปจนถึงระเบียงอาคาร จำเลยทราบดีว่า หากผู้ตายตกลงไปต้องตายแน่นอน จำเลยยังคงไล่ต้อนผุ้ตายไปจนผู้ตายพลัดตกจากระเบียงอาคาร ดังนี้ จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้ตายประเภทเล็งเห็นผล

มีอีกคำหนึ่งที่ต้องอธิบาย คำว่า ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

อย่าไปเข้าใจว่าเป็นการทำให้ผู้อื่นตายโดยประมาท เช่นขับรถชนคนตาย อันนี้เป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผุ้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่ใช่การทำให้ผู้อื่นตายโดยไม่เจตนา

เพราะความหมายของคำว่า โดยไม่เจตนา คือมีเจตนา และเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล แต่เป็นเจตนาทำร้ายมิใช่เจตนาฆ่า ผลของการทำร้ายนั้นทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย คือความหมายของคำว่า "ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา"

ฎีกาที่ 1270/2526 จำเลยขับขี่รถยนต์บรรทุกดินลูกรังสูงเกินกำหนดพอถึงจุดตรวจมีแผงเหล็กเครื่องหมายหยุดและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เป่านกหวีดให้จำเลยหยุดรถ จำเลยกลัวเลยไม่ยอมหยุด กลับเร่งความเร็วพุ่งเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระโดดหลบทัน ดังนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่ารถยนต์ที่จำเลยขับขี่พุ่งเข้าใส่นั้นจะต้องชนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่บนถนนถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงมีความผิดฐาน พยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ป.อาญา มาตรา 289 , 80



คำถาม ให้พิจรณาว่า แต่ละกรณีเป็นเจตนาประเภทใด

1. จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงผู้เสียหาย 1 นัด ก่อนกระทำความผิดจำเลยตะโกนด่า ผู้เสียหายว่า "เย็ดแม่ยิงให้ตายโหง " แสดงว่าจำเลยจะใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธที่ร้ายแรงยิงผู้เสียหายให้ตายจำเลยหันปากกระบอกปืนไปทางหลัง ผู้เสียหายที่กำลังวิ่งหนีเล็งไปในส่วนอวัยวะสำคัญ จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย

2. การที่จำเลยที่ 2 ใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงไปทางกลุ่มผู้เสียหายซึ่งมีประมาณ 10 คน โดยไม่ใยดีว่ากระสุนปืนจะถูกใครหรือไม่

3. ก่อนเกิดเหตุ 7-8 วัน จำเลยกับผู้ตายมีปากเสียงกันในการซื้อขายไม้วันเกิดเหตุก่อนผู้ตายถูกยิง อ. ได้ยินเสียงผู้ตายร้องด่าจำเลย ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด โดยจำเลยเป็นผู้ยิงผู้ตาย

4. จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตายกับพวกหลายนัด

5. แม่นอนหลับ ดิ้นทับลูกน้อยถึงแก่ความตาย

5 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณคุ่ะ พี่นัท
    ลองตอบคำถามดูค่ะ
    1.เจตนาฆ่า ประเภท ประสงค์ต่อผล
    2.เจตนาฆ่า ประเภท เล็งเห็นผล
    3.->1.
    4.->1.
    5.ฆ่าคนตายโดยประมาท(คิดนานกว่าข้ออื่นค่ะ)

    ตอบลบ
  2. ข้อ ๕ ยังไม่มีการกระทำเลยค่ะ

    http://natjar2001law.blogspot.com/2010/11/1_12.html

    ตอบลบ
  3. พี่นัทบอกว่าไม่มีการกระทำ ไม่มีการการะทำก็ยังไม่เปิดประตู ก็ไม่ต้องรับผิด

    บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท

    การกระทำ คือ การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ

    291 ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย...
    59 ว4 กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่ กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจัก ต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวัง เช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

    ที่พราวว่าเป็นประมาทเพราะว่า แม่นอนทับลูกน้อยตาย แสดงว่าลูกยังเล็กมาก แต่แม่ก็ยังมานอนใกล้ลูกซึ่งเมื่อลูกยังเล็กก็ควรจะระมัดระวังไม่นอนใกล้ๆลูก จนเป็นเหตุให้นอนทับลูกตาย

    ที่พราวไล่มาเพื่อให้พี่นัทช่วยดูค่ะ ว่าพราวผิดจากจุดไหนค่ะ(อย่าบอกนะค่ะว่าจุดแรก อิอิ) แล้วก็รบกวนขอเฉลยด้วยนะค่ะ(อ่านอาญา 1 สามรอบแล้วค่ะ)

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  4. การกระทำคือการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ ประกอบด้วย

    ๑. เคลื่อนไหวร่างกาย
    ๒. จิตใจบังคับ

    การที่แม่นอนดิ้น แม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่การเคลื่อนไหวร่างกายดังกล่าวไม่ได้เป็นไปด้วยจิตใจบังคับ จึงไม่มีการกระทำ เมื่อไม่มีการกระทำ ก็ไม่จำต้องพิจารณาเรื่องเจตนาหรือประมาทเลย

    คนนอนหลับ ย่อมไม่มีการกระทำ

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น