วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ วิแพ่ง ม.144


ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
มาตรา 144     เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดนั้น เว้นแต่กรณีจะอยู่ภายใต้บังคับบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
(1)   การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น  ๆ    ตามมาตรา 143
(2)   การพิจารณาใหม่แห่งคดีซึ่งได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 209 และคดีที่เอกสารได้สูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา 53
(3)   การยื่น การยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาตามมาตรา  229   และ  247  และการดำเนินวิธีบังคับชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาตามมาตรา   254 วรรคสุดท้าย
(4)   การที่ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ส่งคดีคืนไปยังศาลล่าง   ที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้น  เพื่อให้พิพากษาใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา 243
(5)        การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 302 
ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะบังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 16 และ 240  ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลอื่นแต่งตั้ง
หลักเกณฑ์สำคัญ 
1.            ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีไปแล้ว (ประเด็นเดียวกัน)
2.             ต้องเป็นคู่ความเดียวกัน  (กลับกันเป็นโจทก์จำเลยได้)
3.            คำพิพากษาไม่จำต้องถึงที่สุด
4.            เป็นการดำเนินซ้ำในคดีเดิมได้  ต่างคดีก็ได้
5.            ห้ามคู่ความ   ห้ามศาล
ฎีกาที่  2773/2529      คดีก่อน   จำเลยที่ 1 ฟ้องกรมตำรวจโจทก์ในคดีนี้กับพวกเป็นจำเลยว่า  โจทก์ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่โจทก์จ้างจำเลยที่ ก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชา การศึกษาของโจทก์ และโจทก์ได้สั่งให้ระงับการก่อสร้างเนื่องจากโจทก์ได้ออกแบบแปลนตัวอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชนโดยผิดพลาดให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย  คดีจึงมีประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่  และจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เท่าใด       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า    โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา  แต่ให้ยกฟ้องเพราะจำเลยที่ ยังไม่มีสิทธิบอกกล่าวเลิกสัญญากับโจทก์   จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้  โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1   ผิดสัญญาก่อสร้างฉบับเดียวกันโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับคดีก่อนว่าโจทก์ออกแบบแปลนตัวอาคารผิดพลาด   ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินของเอกชนดังกล่าวแล้ว    จึงขอให้จำเลยก่อสร้างอาคารต่อไปแต่จำเลยไม่ก่อสร้าง   และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสีย หายแก่โจทก์ดังนี้     มูลคดีทั้งสองคดีว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยอาศัยเหตุเรื่องรุกล้ำที่ดินเป็นข้อสำคัญของคดี       จึงเป็นคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันโจทก์ฟ้องจำเลยที่ เป็นคดีนี้   จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามม.144   มิใช่เป็นการฟ้องซ้ำตาม ม.148  เพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้   คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกายังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแม้ศาลชั้นต้นจะรอคดีนี้ไว้      เพื่อฟังผลของคดีก่อนจนถึงที่สุดก็ตาม
หมายเหตุ  ไม่เป็นฟ้องซ้ำเพราะคดีแรกยังไม่ถึงไม่ถึงที่สุด  และไม่เป็นฟ้องซ้อนเพราะโจทก์คนละคนกันแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ฎีกาที่  15/2538      โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท   คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น    จำเลยกลับฟ้องโจทก์ให้ออกไปจากที่พิพาทรายเดียวกัน    โจทก์ให้การว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์       คดีทั้งสองมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย  เมื่อศาลชั้นต้นในคดีหลังพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นของจำเลย ฟ้องของโจทก์ในคดีแรกจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ..มาตรา 144
ข้อสังเกต     ฎีกานี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีหนึ่ง    จำเลยฟ้องโจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง    โดยมีประเด็นข้อพิพาทเป็นอย่างเดียวกัน  เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีใดคดีหนึ่ง  มีผลทำให้ในอีกคดีหนึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำโดยไม่จำต้องคำนึงว่า คดีที่ศาลพิพากษาฟ้อง ก่อนหรือฟ้องหลัง  (ขณะยื่นฟ้องไม่เป็นดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ  ไม่เป็นฟ้องซ้ำ   ไม่เป็นฟ้องซ้อน  ศาลจึงต้องรับฟ้อง ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีหนึ่งแล้วจึงจะทำให้อีกคดีหนึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำทันที)

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอโทดครับ ถ้ามีปัญหาเรื่องสุนัขไปกัดคนอื่น
    อยากจะปรึกษาทางเมลได้ไหมคับ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น