วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

ลิขสิทธิ์ และการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์

ทุกวันนี้ ระบบอินเตอร์เนต ให้คุณประโยชน์ในการเผยแพร่งานเขียน (งานวรรณกรรม) ของผู้เขียนได้อย่างขว้างขวางและรวดเร็ว บทความนี้ ผู้เขียนจึงเขียนเรื่องงานอันมีลิขสิทธิ์และความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ เพื่อให้นักเขียนในโลกอินเตอร์เนตทุกท่านได้ทราบว่า การเขียนของท่าน รวมถึงนามแฝงของท่านนั้น เป็นงานอันทรงคุณค่าที่เรียกว่า "ลิขสิทธิ์"

ลิขสิทธิ์ คือ ทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง

คำว่า ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Intellectual property ซึ่งทางทฤษฎีแยกเป็นงาน 2 กลุ่มด้วยกัน คือ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องหมายการค้า ชื่อเสียงทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การคุ้มครองพันธ์พืช การออกแบบผังภูมิของวงจรรวม ความลับทางการค้า สิทธิบัตร กับลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง ซึ่งเป็นงานด้านสุนทรียภาพ ได้แก่งานวรรณกรรม ศิลปกรรม นาฎกรรม ดนตรีกรรม สิ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองคือสิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นสารสิทธิไม่ใช่กรรมสิทธิ์ สิทธิหลักคือสิทธิที่จะไม่ให้ผู้ใดทำซ้ำหรือทำสำเนาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ หรือห้ามดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสิทธิในลิขสิทธิ์มีลักษณะเป็นสิทธิเด็ดขาด Exclusive right

ใครมีสิทธิในงานลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

อธิบาย คำว่า ผู้สร้างสรรค์ หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ขึ้น โดยก่อให้เกิดขึ้นตามความคิดของตนเอง ความพยายามหรือความวิริยะอุตสาหะของตนเอง Originality โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานของผู้อื่น เช่น งานเขียนหนังสือที่เขียนตามความรู้ ลีลาและภาษาของตนเองโดยมิได้ดัดแปลงหรือคัดลอกจากงานของผู้อื่น เป็นต้น

การให้ความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์

การให้ความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์เป็นไปโดยอัตโนมัติโดย ไม่ต้องมีการจดทะเบียน กล่าวคือ คุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์ มีลักษณะ Automatic protection แต่อาจจะมีการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์หรือไม่ก็ได้ หากมีการแจ้งก็เพียงอยู่ในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่พิสูจน์ถึงความเป็นเจ้าของงานดังกล่าวเท่านั้น ไม่ใช่การแจ้งเพื่อรับรองสิทธิ

ประเภทของงานอันมีลิขสิทธ์

"วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือจุลสารสิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

"โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด

"นาฎกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่าหรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย

"ศิลปกรรม" หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

(1) งานจิตรกรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง

(2) งานประติมากรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้

(3) งานภาพพิมพ์ ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย

(4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างงานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง

(5) งานภาพถ่าย ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยใช้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะหรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น

(6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์

(7) งานศิลปะประยุกต์ ได้แก่งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6)อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า

ทั้งนี้ ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

"ดนตรีกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้อง หรือทำนองอย่างเดียวและให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยก และเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

"โสตทัศนวัสดุ" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี

"ภาพยนตร์" หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วย ถ้ามี

"สิ่งบันทึกเสียง" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรีเสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใดๆอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้นแต่ทั้งนี้มิให้ หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

"นักแสดง" หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และ ผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด

"งานแพร่เสียงแพร่ภาพ" หมายความว่า งานที่น่าออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน

งานที่ไม่มีลิขสิทธิ์

(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น

(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวงทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างงานคนแรก

ปกติงานสร้างสรรค์จะเป็นงานที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ แต่มีข้อยกเว้นบางประการที่ทำให้ผู้สร้างสรรค์ไม่ใช่เจ้าของสิขสิทธิ์ หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้

1. งานที่ผู้สร้างสรรค์ ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น

2. งานที่ผู้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่นให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

3. งานใดมีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้เคยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลงตามพระราชบัญญัตินี้แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

งานในข้อนี้ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายแองโกลแซกซอน ซึ่งถือหลักว่างานอันมีลิขสิทธิ์ดังเดิม เช่น งานวรรณกรรม หรืองานดนตรีกรรม เจ้าของสิทธิ์อาจมอบหมายให้ผู้อื่นนำไปดัดแปลงเป็นงานใหม่ เช่นงานภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงได้ และผู้ดัดแปลงได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ดัดแปลงแล้วนั้น ซึ่งแนวคิดนี้ต่างจากกฎหมายในภาคพื้นยุโรป ซึ่งถือหลักว่าผู้สร้างงานใหม่ถือเป็นเพียงผู้ใช้สิทธิ์ในงานเดิมแต่ไม่ได้สิทธิ์ในงานใหม่

การละเมิดลิขสิทธิ์

คือการ "ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้น

ใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

"ดัดแปลง" หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับในส่วน อันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ให้หมายความรวมถึง แปลวรรณกรรมเปลี่ยนรูปวรรณกรรม หรือรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่

(2) ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความรวมถึงทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่

(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับนาฎกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่มิใช้นาฎกรรมให้เป็นนาฎกรรม หรือเปลี่ยนนาฎกรรมให้เป็นงานที่มิใช่นาฎกรรม ทั้งนี้ไม่ว่าในภาษาเดิมหรือต่างภาษากัน

(4) ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่เป็นรูปสองมิติหรือสามมิติ ให้เป็นรูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากงานต้นฉบับ

(5) ในส่วนที่เกี่ยวกับดนตรีกรรม ให้หมายความรวมถึง จัดลำดับเรียบเรียงเสียงประสานหรือเปลี่ยนคำร้องหรือทำนองใหม่

"เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพการก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

ตามสัญญาอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ซึ่งเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์กำหนดว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะสร้างภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายดังกล่าวตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ อันเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มาดัดแปลงและจำเลยร่วมที่ 2 มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ดัดแปลงขึ้นตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ที่ได้มาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี เท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยวิธีอื่น ไม่อาจให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้น หรือให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นแก่ผู้อื่นได้ ตลอดจนไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดังแปลงนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น หรือไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 13 และ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537) มาตรา 15 ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์ แล้วนำวิดีโอนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้น โดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นการกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) หรือ

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1)

เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยวิธีอื่น ซึ่งรวมถึงการบันทึกเป็นม้วนวิดีโอเทปภาพยนตร์ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1แม้ว่าจะได้รับอนุญาตจากจำเลยร่วมที่ 2 ให้นำภาพยนตร์ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 สร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกจำหน่ายตามสัญญาที่ทำกับจำเลยร่วมที่ 2ก็ไม่มีสิทธิที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไป

ผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายได้เช่นกัน

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ได้บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ซึ่งเห็นได้ว่าการสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล มีเพียงดุลพินิจในการสั่งเกี่ยวกับค่าทนายความซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ต้องเป็นไปตามอัตราค่าทนายความในตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยไม่ได้แยกให้จำเลยแต่ละคนชดใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องชดใช้แก่โจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

หมายเหตุ การละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์นอกจากเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ถือว่าเป็นการละเมิดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิดตามมาตรา 420 ด้วย


สรุป งานเขียนต่างๆ ที่เข้าลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น คุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด บางครั้งเราอาจจะไดยินผู้ประกอบการที่คิดชื่อหรือคิดค้นสูตร ต่างๆ พูดๆ กันว่า ไปจดลิขสิทธิ์ หรือได้จดลิขสิทธิ์แล้วนั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่เขาจดทะเบียนนั้นคือ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรต่างหาก แต่ก็เอามาพูดรวมกันอยู่ในลิขสิทธิ์เสียหมด ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่ถ้าเข้าใจเสียให้ถูกต้องได้จะเป็นการดี

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15/5/54 17:51

    คือว่าหนุโดนหาว่าไปละเมิดสิทธิทางปัญญาของพี่แฟน
    คือแฟนก็ได้"ขอแล้ว"ถึงได้เอารูปที่พี่เค้าเพ้นร่างกายมาเป็นแบบเพราะตอนจะเปิดร้านแรกๆยังไม่มีรุปถ่ายให้ลุกค้าดู แต่เลลาผ่านไป2-3เดือนเราก็ปิดร้านไปเพราะเปิดเทอม และแล้วพี่เค้าลืมไม๊ว่าอนุญาต ก็มาโพสด่าในเฟสบุ๊กและไม่พอเพื่อนๆเค้าก็มาด่าหนุหนูในเฟสบุ๊กด้วย หนูอายมาก และอีกอย่างหนูไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะอายุ17เองค่ะและไม่ได้มีเจตนาร้ายใดๆ พี่เค้าโตมากแล้วอายุประมาณ27เค้ารู้กฏหมายและมีเพื่อนมากมายเรียนกฏหมาย ขอคำปรึกษาด้วยน่ะค่ะร้อนใจมาก

    ตอบลบ
  2. คงให้คำแนะนำอะไรไม่ได้ เพราะหนูไม่ได้เล่าอะไรเลย ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วเขาแจ้งข้อหาอะไร ดำเนินคดีอะไรและอย่างไรค่ะ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ16/5/54 11:53

    โดยหลักนะผมว่า งานลิขสิทธิ์ ถ้าผู้สร้างสรรค์อนุญาติให้ใช้งานนั้นเเล้วก็มมิน่าจะเป็นการทำโดยละเมิดนะ แต่สิ่งที่สำคัญคืออการพิสูจน์ว่าเจ้าของงานที่สร้างสรรค์นั้นยินยอมจริงหรือเปล่ามีหลักฐานหรือไม่ ตามกฎหมายการยินยอมให้ผู้อื่นใช้งานของตนมิต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลผูกพันตามกฎหมาย ผมแนะนำนะเวลาจะของอนุญาติใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สังสรรค์ ให้ทำเป็นหนังสือให้ผู้สร้างสรรค์ยินยอมดีกว่านะครับ (maxlawyer)

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ9/11/54 16:39

    ถ้าเราเขียนหนังสือแล้วขายต้นฉบับโดยไม่ทำสัญญา ถ้าหนังสือตีพิมพ์และเรียกเก็บคืนแล้ว เราสามารถนำไปขายที่อื่นได้หรือไม่คะ

    ตอบลบ
  5. ถ้าจะนำไปขายที่อื่น ควรจะตกลงกับผู้ซื้อลิขสิทธิเดิมเสียให้เรียบร้อยเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนค่ะ การเก็บหนังสือคืนไม่ทำให้สิทธในลิขสิทธิที่เขาซื้อแล้วระงับไป เพราะเขาอาจจะพิมพ์ใหม่ก็ได้ค่ะ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น