วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

การประนีประนอมยอมความ


ความเบื้องต้น
               สัญญาประนีประนอมยอมความกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๕๐-๘๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
              มาตรา ๘๕๐ บัญญัติว่า การประนีประนอมยอมความ คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนให้แก่กัน
            มาตรา ๘๕๑ ใจความสำคัญ คือ สัญญาประนีประนอมจะใช้บังคับกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลงลายมือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องต่อศาลได้
         มาตรา ๘๕๒ ใจความสำคัญ คือ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ คือ ทำให้การเรียกร้อง ซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละได้ระงับลง และได้สิทธิใหม่ตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความ
การประนีประนอมยอมความเกิดได้อย่างไร
การประนีประนอมยอมความเกิดได้ ๒ ทาง
 (๑) โดยตัวคู่ความเอง เมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้นไม่ว่าเพิ่งเริ่มเกิดหรือเมื่อนำข้อพิพาทยื่นฟ้องต่อศาลแล้วก็ตารมอาจเกิดสถานการณ์ที่เหมาะสมที่เอื้ออำนวยให้คู่ความสองฝ่ายโอนอ่อนเข้าหากันทำนองต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันสั้นยาวให้แก่กันคู่ความทั้งสองฝ่ายอาจตกลงใจกันทำสัญญายอมความกันได้ด้วยตัวของคู่ความเองก็ได้   
(๒) โดยการไก่เกลี่ยของบุคลทีสาม    เมื่อเกิดมีข้อพิพาทขึ้นระหว่างคู่ความสองฝ่ายจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในการป้องกันตนเองตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของตน มนุษย์จะเกิดความคิดเข้าข้างตนเองและจะเกิดความรู้สึกโกรธที่สิทธิของตนเองถูกล่วงละเมิด  โดยเฉพาะความรู้สึกของผู้สูญเสีย  โดยธรรมชาติข้อนี้ทำให้คู่ความมักจะยึดมั่นในจุดยืนของตนเองว่าต้องเป็นอย่างที่ตนคิดหรือคาดการณ์ไว้และจะไม่ยอมโอนอ่อนแม้จะถูกเจรจาต่อรองจากฝ่ายตรงข้าม  สภาพดังกล่าวยิ่งจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงถ้าหากต่างฝ่ายต่างก็ถือว่าตนเองเป็นฝ่ายที่ถูกต้องมากกว่า   ความขัดแย้งทำให้เกิดอารมณ์เข้ามาแทรก  ยงถ้าหากได้แรงยุแหย่จากบุคคลอื่น  สภาพอารมณ์จะยิ่งรุนแรง  ทิฐิมานะการรักษาศักดิ์ศรีจะเกิดตามมาทำให้จุดยืนเหนียวแน่น  ยากแก่การเจรจาต่อรอง
                    ด้วยเหตุดังกล่าวหากมีบุคคลที่สามารถเข้ามาเป็นกาวใจ  โดยสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจของทั้งสองฝ่ายได้อย่างสนิทแนบแน่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ตั้งใจและเป็นกลางอย่างแท้จริง
บุคคลที่สาม  ก็สามารถจะโยกคลอนจุดยืนของแต่ละฝ่ายให้อ่อนโอนลงมาหากันได้จนสุดท้ายต่างฝ่ายต่างพบทางออกของปัญหาที่ก่อนนั้นเป็นทางตันจนสามารถตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ในลักษณะต่างฝ่ายต่างพอใจในที่สุด
ประเภทของการประนอมยอมความ  
การประนีประนอมยอมความนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิด คือ
(๑)    การประนีประนอมยอมความนอกศาล
(๒)การประนีประนอมยอมความในศาล
                การประนีประนอมยอมความนอกศาล    เป็นกรณีที่ผู้มีข้อพิพาทต่อกันได้ทำความตกลงกัน  ซึ้งอาจเป็นกรณีที่คู่กรณีพิพาทได้เจรจาทำความตกลงกันเองหรือมีองค์กรบุคคลภายนอกเข้าดำเนินการเป็นคนกลางทำการไกล่เกลี่ยก็ได้จนในที่สุดสามารถทำความตกลงกันได้  แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ 
               การประนีประนอมยอมความในศาล    เป็นกรณีที่เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นได้นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล  และในระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดีดังกล่าวอยู่  คู่กรณีได้ทำความตกลงกันได้ในข้อพิพาทดังกล่าว  ทำให้ข้อพิพาทที่มีอยู่นั้นสิ้นสุดลงจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันขึ้นแล้วเสนอให้ศาลพิจารณา ซึ่งเมื่อศาลเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายศาลก็จะพิพากษาให้เป็นไปตามที่ได้ยอมความกันดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น   นายดำเช่าบ้านนายแดงอยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ต่อมาปรากฏว่านายดำค้างค่าเช่า ๕ เดือน  เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท  นายแดงจึงบอกเลิกสัญญาเช่า  ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระจากนายดำต่อศาลระหว่างการพิจารณาของศาล   นายดำได้ทำความตกลงกับนายแดงในที่สุดตกลงกันได้โดยนายดำจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเช่าภายใน ๑ เดือน และนายแดงไม่ติดใจเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระต่อไป  จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเสนอต่อศาลและศาลได้พิพากษาให้เป็นไปตามที่ยอมความกันนั้น

              ข้อแตกต่างระหว่างการประนีประนอมยอมความที่ทำนอกศาลและในศาล   คือ  ในกรณีการประนีประนอมยอมความนอกศาล  หากต่อมาภายหลังคู่สัญญาบิดพลิ้วไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา  ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายก็จะต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญานั้นอีกที   ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลหากต่อมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลอีกครั้งโดยผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ทันที กล่าวคือ   คู่สัญญาฝ่ายนั้นอาจถูกยึดหลักอายัดทรัพย์สินมาขายทอดตลาดชำระหนี้ให้ฝ่ายผู้เสียหายได้  หรือบังคับให้ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ให้ออกไปจากบ้านเช่าตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษาได้


ประนีประนอมยอมความ
มาตรา ๘๕๐   อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
หลักเกณฑ์สำคัญ
๑.   ต้องมีคู่สัญญาสองฝ่าย  สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น  มีลักษณะเป็น
สัญญาต่างตอบแทน  ประกอบด้วยคู่สัญญาสองฝ่าย  ฝ่ายละกี่คนก็ได้
๒.  ตกลงระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไป    

ฎีกาที่  ๑๐๘/๒๕๔๕   โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องที่ดิน  นายอำเภอเรียกโจทก์และจำเลยมาเจรจากันโดยมีการบันทึกคำเปรียบเทียบไว้ว่าจำเลยตกลงแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ตามส่วนที่ตกลงกัน  บันทึกคำเปรียบเทียบดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่มีอยู่แล้วในขณะนั้นให้เสร็จไป  จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  850  อันมีผลให้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีก  คงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  852  เท่านั้น

ฎีกาที่ ๒๕๗๖/๒๕๓๑ คดีนี้ถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์จำนวน ๙ ส่วนใน ๒๑ ส่วน ในระหว่างบังคับคดีโจทก์ จำเลยทั้งสี่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยศาลชั้นต้นรับรู้เป็นผู้ทำให้มีข้อตกลงกันไม่ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีนี้ และให้ยุติคดีทุกคดีทั้งคดีที่พิพากษาแล้วและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล และตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินกันใหม่ เมื่อโจทก์จำเลยทั้งสี่ได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อหน้าศาลแล้ว จึงเป็นสัญญาที่ใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ โดยมีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒การบังคับคดีนี้และมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาจึงเป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์ จำเลยทั้งสี่จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เมื่อจำเลยผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจะกลับมาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งมูลหนี้ระงับไปแล้วหาได้ไม่. (อ้าง ฎีกา ๖๒๖/๒๔๙๑)
            ๓เป็นสัญญาที่ต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน 
สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น  เป็นสัญญาระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นในอนาคต (สามารถตกลงทำสัญญาประนีประนอมฯ กันไว้ล่วงหน้าได้) ให้ระงับไป

ฎีกาที่  ๓๗๔/๒๔๗๘  สัญญาที่ไม่มีข้อความอันเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท  ไม่ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ 
ข้อความเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท  เช่น  ไม่ติดใจเรียกร้อง,  ยินยอมให้............... เป็นต้น

ฎีกาที่ ๔๑๐/๒๕๐๔   โจทก์จำเลยทำสัญญาให้กรรมการวัดสอบเขตที่ดินตามเนื้อที่ในโฉนดของโจทก์  หากปรากฏว่าจำเลยปลูกรั้วล้ำเข้าไปในเขตของโจทก์จำเลยยอมรื้อรั้ว เมื่อเริ่มรังวัดเพียงด้านหนึ่ง ปรากฏว่ารั้วของจำเลยล้ำเข้าไปในเขตที่ของโจทก์  1.20 เมตร  จำเลยจึงไม่ยอมให้วัดต่อไป สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวนี้   ย่อมเป็นสัญญาที่ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายเมื่อจำเลยไม่ยินยอมให้กรรมการวัดตามสัญญาที่ตกลงกัน จำเลยก็เป็นฝ่ายผิดสัญญา  โจทก์ย่อมจะมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยมิให้ขัดขวางในการที่กรรมการจะทำการตามสัญญานั้นได้

ฎีกาที่  ๒๒๑/๒๕๐๐    โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์บาดเจ็บสาหัส ขอให้ลงโทษทางอาญา ในระหว่างพิจารณาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าจำเลยยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่ง  โจทก์ยอมรับตามที่จำเลยชำระและไม่ติดใจว่ากล่าวเอาโทษจำเลยต่อไป ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลย เช่นนี้  ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์จะมาฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีกไม่ได้

ฎีกาที่  ๒๖๒๔/๒๕๑๖  คู่กรณีในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นความผิดอันยอมความกันได้หรือไม่ก็ตาม อาจตกลงประนีประนอมยอมความเรื่องค่าเสียหายในทางแพ่งอันพึงมีพึงได้ตามสิทธิของตนได้   กฎหมายห้ามเฉพาะการตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อระงับหรืองดการฟ้องคดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น
            สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยบุกรุกขึ้นไปบนเรือนโจทก์ในเวลากลางคืนและกระทำอนาจารโจทก์มีข้อความว่า  จำเลยยอมเสียค่าทำขวัญให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่งภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ทำตาม ยอมให้ดำเนินคดีต่อไปนั้น   เป็นเรื่องทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าเสียหาย ฐานละเมิดให้แก่โจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น   ไม่ใช่ค่าเสียหายที่เรียกร้องเพื่อระงับการฟ้องคดีอาญาซึ่งกฎหมายห้ามไว้แต่อย่างใดจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้
            สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น กฎหมายมิได้บังคับว่าคู่กรณีจะต้องลงชื่อทั้งสองฝ่าย แม้จำเลยผู้เดียวลงชื่อรับผิดต่อโจทก์ก็เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้
ฎีกาที่  ๓๔๓/๒๕๓๔       แม้สัญญาจะใช้ชื่อเรียกว่า      หนังสือรับสภาพหนี้แต่ข้อความในสัญญานั้นจำเลยยอมรับว่ามีหนี้อยู่กับโจทก์จริงและยอมตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ  จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการที่โจทก์จำเลยทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่มีขึ้นตามมูลหนี้เดิมให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน   กรณีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม  ป.พ.พ. มาตรา 850 หาใช่เป็นการรับสภาพหนี้โดยกำหนดเวลาและเงื่อนไขให้จำเลยชำระหนี้ไม่เมื่อสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงมีอายุความ 10 ปีตาม  ป.พ.พ. มาตรา 168

การประนีประนอมยอมความนี้มีผลให้ข้อเรียกร้องเดิมระงับไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามข้อความในสัญญาที่ทำกันขึ้นใหม่นั้น นอกจากนั้นยังทำให้อายุความตามหนี้เดิมสะดุดหยุดลง แล้วอายุความเริ่มต้นเดินใหม่ต่อไปอีก ๑๐ ปี บางกรณีอายุความตามสัญญาเดิมอาจจะสั้นกว่า๑๐ ปี แต่เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอายุความก็จะยาวออกไปอีก ๑๐ ปี เหมือน กันหมด เช่น คดีผิดสัญญาซื้อขาย  ซึ่งกฎหมายกำหนดอายุความไว้เพียง ๒ ปี หมายความว่าพ้น ๒ ปีไปแล้วเรียกเอาไม่ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อผู้ขายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อชำระเงินภายในกำหนดใหม่ อาจเป็น ๖ เดือน หรือ ๘ เดือน ก็แล้วแต่จะตกลงกัน   โดยผู้ซื้อยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ขายดังนี้ อายุความเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้านั้นจะยาวออกไปอีก ๑๐ ปี  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก  คู่กรณีตกลงระงับสิทธิเรียกร้องในคดีผิดสัญญาซื้อขายกันแล้วนั่นเอง  อายุความในกรณีผิดสัญญาซื้อขายจึงถูกระงับไปด้วย  ต้องเริ่มอายุความใหม่เป็นกรณีอายุความของสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง

เนื้อหาของสัญญาต้องมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  กล่าวคือ  ต้องอยู่ภายใต้ มาตรา ๑๕๐ โดยถือเอาเจตนาของคู่กรณีที่แสดงออก ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเงื่อนไขที่พ้นวิสัยที่จะปฏิบัติได้ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน   เช่น  ดำ  กับ แดง  ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า ดำ ยอมปลดหนี้ให้แก่แดง  โดยที่แดงต้องช่วยขับรถที่บรรจุระเบิดไว้เต็มคันรถ  ไปจอดอยู่แถวๆ ถนนจรัญสนิทวงศ์ซึ่งการขนวัตถุระเบิดดังกล่าว   เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย   สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นโมฆะ บังคับกันไม่ได้

คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน  ยอมความกันไม่ได้  หากทำสัญญายอมความไปมีผลเป็นโมฆะไม่สามารถบังคับกันได้

ฎีกาที่  ๑๕๒๗/๒๕๑๓   โจทก์เป็นบิดาของเด็กหญิง ส. อายุ 14 ปี  ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 และที่ 3   ซึ่งเป็นมารดาและลุงของจำเลยที่ 1 ว่า  โจทก์ได้แจ้งความไว้ว่าจำเลยที่ 1  พรากเด็กหญิง  ส.  ไปเสียจากโจทก์เพื่อการอนาจารบัดนี้ได้ตกลงกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมชดใช้เงินค่าสินสอดให้ 5,000 บาท  ถ้าไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ก็จะนำคดีมาฟ้องถ้าตกลงตามวันที่กล่าว โจทก์จะถอนคดี  การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3  ตกลงจะใช้เงินให้นั้นก็เพื่อให้โจทก์ถอดคดีข้อหาพรากผู้เยาว์   อันเป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดิน  ข้อตกลงจะใช้เงินให้จึงตกเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุที่ประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนโจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้
ในกรณีคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  คู่กรณีสามารถตกลงยอมความงดเว้นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งกันได้  ทั้งนี้ไม่ว่าคดีอาญาดังกล่าวจะเป็นความผิดต่อแผ่นดินหรือความผิดต่อส่วนตัว

ตามตัวอย่างในฎีกาที่ ๑๕๒๗/๒๕๑๓     หากเป็นการตกลงในข้อที่ว่า     โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งอีก  การตกลงเช่นนี้ใช้ได้เพราะเป็นการตกลงในเรื่องทางแพ่งมิใช่ทางอาญา

ความสามารถในการทำสัญญา  
สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง  ผู้ซึ่งสามารถทำสัญญาได้       จะต้องเป็นผู้มีความสามารถตามกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล
ตัวแทนซึ่งได้รับมอบอำนาจทั่วไปจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้   ทนายความจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนคู่ความได้เฉพาะเมื่อมีการแต่งตั้งและระบุให้ชัดเจนในใบแต่งทนายเท่านั้น  มิฉะนั้นไม่สามารถทำได้
ฎีกาที่ ๑๔๑๓/๒๕๒๔    บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายปิติมีลักษณะ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ  เมื่อนายปิติไม่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากจำเลยให้นำหนังสือ
ประนีประนอมยอมความ  จึงถือไม่ได้ว่านายปิติทำแทนจำเลย หนังสือประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์และจำเลย   อ้างสัญญาประนีประนอมขึ้นต่อสู้ปัดความรับผิดไม่ได้


เนื้อหาของสัญญาประนีประนอมยอมความ     ไม่จำต้องสมบูรณ์อยู่ในเอกสารฉบับเดียว  จดหมายโต้ตอบที่เมื่อนำมาพิจารณารวมกันแล้วได้ความว่า  เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน  ใช้เป็นหลักฐานแห่งสัญญาได้
หลักสำคัญในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็คือ ต้องให้ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญานั้นเป็นสำคัญหรือลายมือชื่อของตัวแทนของฝ่ายนั้นก็ได้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เช่น เจ้าหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ลูกหนี้มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญานั้น เจ้าหนี้ก็จะนำสัญญานั้นไปฟ้องร้องลูกหนี้ไม่ได้   ในทางกลับกันเจ้าหนี้ลูกหนี้ประนีประนอมยอมความกันด้วยปากเปล่า     ภายหลังลูกหนี้เขียนหนังสือถึงเจ้าหนี้กล่าวถึงข้อตกลงที่ได้ทำไปแล้ว   และลงลายมือชื่อมาในจดหมายนั้น   ย่อมถือว่าจดหมายนั้นเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ   ซึ่งมีลายมือชื่อของลูกหนี้อยู่แล้ว  เจ้าหนี้ใช้จดหมายนั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องลูกหนี้



มาตรา 851   อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้ บังคับคดีหาได้ไม่

อธิบาย    การจะตอบว่า  เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือจะบังคับคดีไม่ได้ อันเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องนั้น  จะต้องมีข้อเท็จจริงชัดว่า  ได้ตกลงกันด้วยวาจา  ถ้าข้อเท็จจริงไปไม่ถึง  จะไปตอบว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือนั้นไม่ได้  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น