วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่



ความผิดพลาดในการดำเนินคดีอาญานั้น  เป็นที่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมว่า ต้องมีขึ้นบ้างอย่างแน่นอน  ดังนั้น  จึงได้มีกฎหมายให้สิทธิแก่จำเลยที่ถูกดำเนินคดีอาญาและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษให้สามารถขอรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เช่น มีหลักฐานเพิ่มเติมแน่ชัดแสดงต่อศาลว่า ตนไม่ใช่ผู้กระทำความผิดโดยถูกฟ้องผิดตัว  ถูกกลั่นแกล้ง หรือพยานเบิกความเป็นเท็จทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกลงโทษ ฯลฯ  โดยสามารถอาศัย พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่  พ.ศ.๒๕๒๖  ขอให้ศาลมีคำสั่งรื้อคดีอาญาที่ตนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษขึ้นพิจารณาใหม่ได้  โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญดังนี้



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลังหากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและกำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
คดีหมายความว่า คดีอาญา
คำร้องหมายความว่า คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษแล้วขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่
มาตรา ๕ คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า
(๑) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
(๒) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (๑) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ
(๓) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

มาตรา ๖ บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง
(๑) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
(๒) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ
(๓) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
(๔) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง หรือ
(๕) พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม

อธิบาย  ในการขอรื้อคดีอาญานี้ ต้องปรากฏว่า  ผู้ต้องคำพิพากษาหรือจำเลยนั้นถูกลงโทษอาญา โดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน   (คำว่า คำพิพากษาถึงที่สุดหมายถึง  กรณีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์  ฎีกา  แล้วไม่มีผู้ใดอุทธรณ์  หรือถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา)

และต้องปรากฏว่า
(๑) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
อธิบาย   ในกรณีตามอนุมาตรานี้  ต้องมีการฟ้องร้องต่อพยานในคดีอาญาที่ตนต้องคำพิพากษาว่า  เบิกความเท็จ และศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า  พยานในคดีดังกล่าวเบิกความเท็จ
(๒) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (๑) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ
อธิบาย  ในกรณีตามอนุมาตรานี้  ต้องมีการฟ้องร้องต่อพยานในคดีอาญาที่ตนต้องคำพิพากษาว่า  นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ  และศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า  หลักฐานในคดีดังกล่าวนั้นเป็นหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ
(๓) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด
อธิบาย  มีพยานหลักฐานเพิ่มขึ้นมาใหม่ที่จะแสดงได้ว่า  บุคคลผู้ต้องโทษอาญานั้นไม่ได้กระทำความผิด  ถูกใส่ความ  หรือถูกฟ้องผิดตัว  (ถ้าไม่มีหลักฐานแน่ชัด  ศาลมีอำนาจที่จะไม่อนุญาตให้รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้)



6555/2548  คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องอ้างแต่เพียงว่า คำเบิกความของพยานบุคคลโจทก์ 4 ปาก ที่ศาลอาศัยเป็นหลักในการพิพากษาลงโทษผู้ร้องทั้งสี่เป็นคำเบิกความเท็จ ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง โดยไม่ปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานดังกล่าวเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริงแต่อย่างใด ทั้งปรากฏในคำฟ้องฎีกาว่าผู้ร้องทั้งสี่เพิ่งจะยื่นฟ้องพยานโจทก์ดังกล่าว 1 ปาก เป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาเบิกความเท็จ แจ้งความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จภายหลังจากที่ผู้ร้องทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องนี้แล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 (1) ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสี่อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบแล้วจะแสดงว่าผู้ร้องทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิด ก็ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ว่าพยานบุคคลที่ผู้ร้องอ้างปากหนึ่งเคยเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีนี้ไว้แล้ว ส่วนพยานปากอื่นล้วนเป็นบุคคลที่ผู้ร้องทั้งสี่รู้จักคุ้นเคยเพราะเป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทผู้เสียหายเช่นเดียวกับผู้ร้องทั้งสี่บ้าง เป็นญาติพี่น้องกับผู้ร้องทั้งสี่บ้าง และเป็นเพื่อนบ้านของผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งอยู่กับผู้ร้องทั้งสี่ในขณะเกิดเหตุบ้าง และพยานเอกสารที่ผู้ร้องอ้างก็เป็นเพียงบันทึกความเห็นและข้อที่พยานดังกล่าวจะมาเบิกความ พยานหลักฐานที่ผู้ร้องทั้งสี่อ้างตามคำร้องจึงเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ก่อนและผู้ร้องทั้งสี่ทราบดีอยู่แล้ว ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่ผู้ร้องทั้งสี่จะอ้างมาเป็นเหตุขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 (3) ได้ คำร้องของผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่มีมูล ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องไต่สวน คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่โดยไม่ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งเพราะอำนาจในการมีคำสั่งเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้นจะเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค
มีคำสั่งใหม่



6582/2547  ตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 บัญญัติว่า "คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า (1)… (2)… (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคดีที่จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้จะต้องเป็นคดีที่ได้มีการนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดนั้นแล้ว แม้ผู้ร้องจะเป็นบุคคลที่ต้องรับโทษอาญา เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางในคดีดังกล่าว ตาม ป.อ. มาตรา 36 เพื่อศาลชั้นต้นจะได้ทำการไต่สวนพยานหลักฐานตามคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจริงหรือไม่เสียก่อน เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางเพื่อให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะมายื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่โดยอ้างว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะแสดงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยการกระทำความผิดของจำเลย เพราะในคดีเดิมซึ่งถึงที่สุดศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นส่งไปให้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งคำร้องดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งใหม่


 ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งรื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่  ทีได้ยื่นคำร้องโดย บุคคลตามมาตรา ๖ (๑) – (๔)  ศาลจะต้องมีคำสั่งไต่สวนคำร้องเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานตามข้ออ้างเสียก่อนว่ามีมูลเพียงพอให้รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่  เว้นแต่กรณีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง ศาลจะสั่งไต่สวนหรือไม่ก็ได้  ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๙

มาตรา ๙ ให้ศาลที่ได้รับคำร้องทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ร้อง ศาลจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้อง ก็ให้ศาลสั่งรับคำร้องและดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด
ในการไต่สวนคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนัดไต่สวนไปให้โจทก์ในคดีเดิมทราบ ในกรณีที่โจทก์ในคดีเดิมมิใช่พนักงานอัยการ ให้ส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนัดไต่สวนให้พนักงานอัยการทราบด้วย พนักงานอัยการและโจทก์ในคดีเดิมจะมาฟังการไต่สวนและซักค้านพยานของผู้ร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ ผู้ร้องและโจทก์ในคดีเดิมมีสิทธิแต่งทนายแทนตนได้
เมื่อได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า
ให้ผู้พิพากษา ตุลาการของศาลตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่กฎหมายกำหนดให้เป็นศาลทหาร หรือตุลาการพระธรรมนูญคนเดียวมีอำนาจไต่สวนคำร้องและทำความเห็นได้

หากศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีไม่มีมูลที่จะรื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด (หมายความว่า ผู้ต้องคำพิพากษาไม่อาจขอรื้อคดีได้ใหม่ หรือจะฎีกาต่อไปอีกก็ไม่ได้)  การสั่งคำร้องเป็นอำนาจเฉพาะของศาลอุทธรณ์เท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา  ๑๐



มาตรา ๑๐ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด


สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเพราะอำนาจแห่งกรรมบันดาล จึงยังให้ผู้บริสุทธิ์กลายเป็นมีผิด อาจจะเป็นด้วยเหตุตนเคยใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นไว้ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติก่อนก็ตาม พึงแก้กรรมด้วยการเว้นจาก กายทุจริต  มโนทุจริต วจีทุจริต  เดินทางมรรคมีองค์แปด  สำรวมกาย วาจาด้วยศีล  สำรวมใจด้วยภาวนา หนักจะกลายเป็นเบา  ดุจเติมน้ำจืดลงไปในน้ำเค็ม ฉะนั้น / ครูนัท  หนอนพระไตรปิฎก

1 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น