วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สัญญาค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องไปหลายคราว ม.699

มาตรา 699 การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาที่เป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้
ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้


คำอธิบาย
กิจการอันเนื่องกันไปหลายคราว
หมายถึง กิจการที่ก่อหนี้กู้ไม่จบในคราวเดียว แต่ลูกหนี้สามารก่อหนี้ได้หลายคราวต่อเนื่องกันไป เช่น สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี (สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีคือสัญญากู้ชนิดหนึ่งที่ลูกหนี้ไปขอทำสัญญากับธนาคาร เพื่อนำเงินของธนาคารมาใช้โดยจ่ายผ่านเช็ค) (ฎ.3183/2545)
หนี้การค้ำประกันลูกจ้างในการทำงาน (ฎ.1945/2533,1845/2537)

ลักษณะการค้ำประกันนั้นไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ เพราะผู้ค้ำประกันจะต้องผูกพันการค้ำประกันไปตลอด เช่น แดงค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีให้ดำ แดงจะต้องผูกพันตนต่อธนาคารเจ้าหนี้ ตลอดระยะเวลาที่ดำยังคงใช้เงินกู้เบิกเกินบัญชีนั้นอยู่ แต่หากผู้ค้ำประกันต้องการการบอกเลิกการค้ำประกันเพื่อคราวอันเป็นอนาคต ก็ย่อมทำได้ โดยแจ้งแก่ธนาคารว่าแดงไม่ต้องการค้ำประกันหนี้ดำอีกต่อไป แต่หนี้ที่มีอยู่ก่อนบอกเลิก ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิด ส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังบอกเลิกไม่ต้องรับผิด(ฎ.1945/2533)
เช่น ดำทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวันที่ มกราคม ๒๕๔๒ แดงค้ำประกันหนี้ดำ ตลอดเวลาที่ดำยังใช้เงินเบิกเกินบัญชี แดงยังคงต้องอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้เงินนั้นทุกงวด ต่อมาแดงมีความประสงค์จะบอกเลิกสัญญาค้ำประกัน แดงได้บอกกล่าวไปยังธนาคารเพื่อบอกเลิกการค้ำประกันในวันที่ เมษายน ๒๕๕๓ ดังนี้ หนี้ที่ดำสั่งจ่ายเช็คไปก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓ ยังคงเป็นความผูกพันที่แดงต้องรับผิด ส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากคำบอกกล่าวมีผล แดงไม่ต้องรับผิด

การบอกเลิกอาจทำด้วยวาจาก็ได้ โดยมีผลเมื่อคำบอกกล่าวนั้นไปถึงเจ้าหนี้ แม้ว่าเจ้าหนี้จะไม่ได้รู้ถึงคำบอกกล่าวนั้นก็ตาม (ฎ.500/2507,1945/2537)
เช่น แดงทำหนังสือถึงธนาคาร หนังสือบอกกล่าวไปถึงธนาคารวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓ การบอกเลิกมีผลในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓ แม้ว่า ธนาคารยังไม่ได้อ่านคำบอกกล่าวนั้นก็ตาม

ฎ.1945/2537 จำเลยค้ำประกันการทำงานของ ณ.ไว้ต่อชุมนุมสหกรณ์โจทก์เพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยได้ส่งหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาค้ำประกันไปยังโจทก์ที่สำนักงานของโจทก์ โดย ณ.ในฐานะผู้จัดการของโจทก์ลงลายมือชื่อรับไว้ ถือว่าการบอกเลิกสัญญาค้ำประกันมีผลทันที โดยไม่จำต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์อนุมัติก่อน

แต่ในกรณีที่สัญญาค้ำประกันมีกำหนดเวลา จะบอกเลิกก่อนครบกำหนดไม่ได้ (ฎ.1841/2506)
ผลของการบอกเลิกการค้ำประกันเพื่อคราวอันเป็นอนาคต ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในความเสียหายในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้ (ฎ.1641/2508,2209/2535,3183/2545)
การบอกเลิกสัญญาค้ำประกันตามมาตรา 699 ไม่จำต้องได้รับความยินยอมของเจ้าหนี้ก่อน(ฎ.1945/2537) เพราะมาตรา 699 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้ได้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้แล้วเท่านั้น

มาตรา
699 มิใช่บทกม.เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาตกลงยกเว้นเป็นอย่างอื่นได้

ฎ.29/2538 แม้การค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จะเป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ซึ่งผู้ค้ำประกันอาจเลิกสัญญาเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 699 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สัญญาค้ำประกันมีเงื่อนไขว่าผู้ค้ำประกันจะไม่บอกเลิกสัญญานี้จนกว่าจะมีบุคคลหรือทรัพย์สินมาประกันให้เป็นที่พอใจของโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันไปยังโจทก์ โดยไม่มีบุคคลหรือทรัพย์สินมาประกันให้เป็นที่พอใจของโจทก์ เงื่อนไขข้อตกลงยังไม่สำเร็จ สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น