วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย มาตรา 24 ป.วิแพ่ง

การขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลได้โดยเร็ว ซึ่งถ้าศาลวินิจฉัยให้แล้วเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอ จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีนั้นต่อไป ซึ่งการขอนี้จะทำได้เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น

มาตรา 24 เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไปก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น

ถ้าศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดเช่นว่านี้ จะทำให้คดีเสร็จไปได้ทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่กล่าวแล้วและพิพากษาคดีเรื่องนั้นหรือเฉพาะแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องไปโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

คำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227,228 และ 247

อธิบาย

ต้องเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาข้อเท็จจริงขอตามมาตรานี้ไม่ได้

1187/09 คำสั่งแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เยาว์เป็นดุลพินิจของศาล และเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 และไม่ใช่คำสั่งตามมาตรา 227 หรือ 228 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 226

266/04 จำเลยขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องตนว่า ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม คำสั่งเช่นนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาในระหว่างพิจารณาไม่ได้

ปัญหาข้อกฎหมายที่คู่ความมักร้องขอ ได้แก่ ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องผิดศาล

946/2536 ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นว่า ตามคำฟ้อง และคำให้การข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้แล้วไม่จำเป็นต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้

ผลของการขอ ต้องเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอ และจะทำให้ไม่ต้องมีการพิจารณาคดีนั้นต่อไป จึงจะถือว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 24 หากผลไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอ ทำให้ต้องมีการพิจารณาคดีนั้นต่อไป คดีไม่เสร็จไปจากศาลไม่เป็นการขอตามมาตรา 24

ศาลมีอำนาจหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลเห็นเองว่าอาจทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสำนวนขึ้นวินิจฉัยเองได้โดยไม่จำต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

818/2546 การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานและให้คู่ความรอฟังคำพิพากษานั้นเป็นการสั่งที่ชอบด้วย

ป.วิ.พ. มาตรา 24 และมาตรา 182 (4)

การจะวินิจฉัยให้ตามคำขอหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล

755/05 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ไม่ได้บังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ในปัญหาข้อกฎหมายตามที่คู่ความขอทุกเรื่องถ้าศาลเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่ผู้อ้างเลย คือ เห็นว่าจำเป็นจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้ว จะสั่งรอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาก็ได้

ผลของการขอ

1254/17 การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโดยข้อกฎหมาย มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานโดยอาศัยข้อเท็จจริง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายอันจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้โจทก์จะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยไว้ โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้

79/22 จำเลยให้การว่าโจทก์รับโอนเช็คโดยสุจริต ไม่บรรยายว่าไม่สุจริตอย่างไร ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่ควรต้องสืบพยานตาม ป.พ.พ. ม.916 ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานเป็นการชี้ขาดเบื้องต้นตาม ม.24 โดยวินิจฉัยข้อ

กฎหมายไม่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดี ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา คู่ความอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อน

782/2536 การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้วฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และพิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ตามมาตรา 226

2158/2537 การที่ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยานในวันนัดสืบพยานโจทก์และพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้ความ ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตาม

ป.วิ.พ. มาตรา 24 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์เห็นว่าชอบที่จะมีการสืบพยานต่อไปก็ต้องโดยแย้งคำสั่งไว้มิฉะนั้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 (2)

2012/2542 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย ศาลได้สอบถาม

ข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วและนัดฟังคำพิพากษาเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24

464/2549 คดีก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ได้ พิพากษายกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 24

ถ้าศาลพิพากษาคดีโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบพยานหรือแถลงร่วมกันของคู่ความมาวินิจฉัย ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรานี้
1126/2551 ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลย โจทก์จำเลยแถลงข้อเท็จจริงร่วมกันแล้วขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เพียงประเด็นเดียวศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำพิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษาคดีโดยนำข้อเท็จจริงจากที่คู่ความแถลงร่วมกันมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี ดังนั้น คำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นในกรณีนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 หากโจทก์เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือมีการสืบพยานต่อไปก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ มิฉะนั้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 (2) เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 9 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้แต่มิได้โต้แย้งไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 (2)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น