วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เขตอำนาจศาลในคดีแพ่ง ป.วิแพ่ง ม.4

ในการเสนอคดีต่อแพ่งศาลนั้น โจทก์จะต้องรู้ว่าจะยื่นคำร้องหรือคำฟ้องยังศาลใด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับการยื่นคำฟ้องและคำร้องในกรณีต่างๆ การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องที่ต่างไปจากบทบัญญัตินี้เป็นอันใช้ไม่ได้

เขตอำนาจศาล

มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

(2) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

อธิบาย ตามมาตรา 4(1) นี้ โจทก์สามารถฟ้องได้ยังศาลที่

๑. จำเลยมีภูมิลำเนาหรือ

๒. ศาลที่มูลคดีเกิดได้ ถ้าจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชฯ ให้ฟ้องยังศาลที่มูลคดีเกิดโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาหรือสัญชาติของจำเลย

ฎีกาที่ 3994/40 . ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคล โจทก์สามารถโอนคดีฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้

ฎีกาที่ 6437/41 จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร โจทก์ฟ้องยังศาลที่มูลคดีเกิดได้

ฎีกาที่ 2586/40 สัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมิฉะนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป... มาตรา 572 วรรคสอง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรีแล้ว แต่ยังไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อสัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่ครบถ้วน เมื่อมีการส่งสัญญาดังกล่าว ไปให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาในนามผู้ให้เช่าซื้อที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์เพื่อให้สัญญาครบถ้วนบริบูรณ์ ย่อมถือได้ว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาฉบับนี้อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์ตั้งอยู่ในเขตปทุมวันซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดในมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องได้ ตาม ป.วิ.. มาตรา 4 ( 1 ) และมาตรา 5

ฎีกาที่ 6155/40 การที่จำเลยได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้นเป็นการได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตาม ป...มาตรา 1520 และมาตรา 1566 (6) อันเป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย โดยอ้างเหตุว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล เมื่อโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่ามูลคดีนี่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

ฎีกาที่ 7255/39 ในคดีตั๋วเงิน สถานที่ตั้งของธนาคารตามเช็คเป็นสถานที่ ๆ มูลคดีเกิด

- ในคดีละเมิดสถานที่เกิดเหตุละเมิดเป็นสถานที่ ๆ มูลคดีเกิด

ฎีกาที่ 219/23 จำเลยเป็นหุ้นส่วนกับ ส. . ทำคำเสนอซื้อยางจากโจทก์ซึ่งอยู่กรุงเทพฯ โจทกส่งยางไปให้จำเลยที่จังหวัดนครปฐมตามคำเสนอ เป็นการทำคำสนองด้วยการส่งสินค้าไปยังร้านผู้สั่งซื้อ ถือว่ามูลคดีที่จำเลยไม่ชำระราคายางเกิดที่ร้านที่รับเอาสินค้าด้วย ศาลจึงหวัดนครปฐมใช้ดุลพินิจสั่งอนุญาตตามคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ให้ฟ้องคดีต่อศาลนั้นได้

ฎีกาที่ 739/36 โจทก์จำเลยโต้เถียงกันว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันดังกล่าวเกิดจากที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรีถูกเวนคืนมูลแห่งคดีจึงเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรีเมื่อโจทก์ขออนุญาตฟ้องและศาลแพ่งธนบุรีอนุญาตให้โจทก์ฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรีแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2)

ฎีกาที่ 922/42 สถานที่ทำคำเสนอขอสมัครทำสัญญาประกันชีวิตกับตัวแทนผู้ประกันภัย เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดนอกจากสำนักงานใหญ่ด้วย

สถานที่ที่กฎหมายให้ถือว่ามูลคดีเกิด มูลคดีเกิดในเรือไทย อากาศยานไทยที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร

ให้ถือว่าศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี

การฟ้องผิดศาลถ้าศาลที่รับฟ้องไว้ไม่ใช่ศาลแพ่งศาลต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องแล้วให้ไปฟ้องใหม่ให้ถูกศาล แต่ถ้าศาลที่รับฟ้องไว้เป็นศาลแพ่งศาลและศาลใช้ดุลยพินิจไม่รับคดีไว้พิจารณาศาล ศาลแพ่งต้องมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลที่มีเขตอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๑๖ วรรคสาม


มาตรา
4 ทวิ คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรหรือไม่หรือ ต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่เขตศาล

อธิบาย คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ คือคำฟ้องที่ต้องพิจารณาความเป็นอยู่ของทรัพย์ (ทรัพย์ของใคร) หรือ ฟ้องบังคับเอาตัวทรัพย์ หรือ สิทธิประประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เช่น ทางจำเป็น สิทธิเก็บกิน เป็นต้น

- ฟ้องให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ตามสัญญาจะซื้อขายเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยสังหาริมทรัพย์

- ฟ้องบังคับจำนอง เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์

ฎีกาที่ 680/321 การที่โจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ที่ดินที่ จำเลยที่ 2 นำมาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้หรือไม่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงสิทธิที่โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำนอง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม แต่เมื่อที่ดินที่จำนองอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตได้ตาม ป.วิ..มาตรา 4 (1)

ฎีกาที่ 2098/19 ฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินที่ทำโดยไม่มีอำนาจ เป็นที่ดิน ที่โจทก์รับมาตามพินัยกรรม เป็นฟ้องเรียกที่ดินคืนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ต้องฟ้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งที่ดินตั้งอยู่ในเขต

ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

- ฟ้องเรียกเงินค่านายหน้าจากการขายที่ดิน เป็นเรื่องหนี้เหนือบุคคล

- ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ดินเป็นเรื่องหนี้เหนือบุคคลตามสัญญาเช่า

คำว่า สิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์หมายถึงสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ฯลฯ

มาตรา 4 ตรี คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์ที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้

อธิบาย

1. ต้องไม่ใช่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ (เป็นเรื่องหนี้เหนือบุคคล) ถ้าเป็นอสังฯ ฟ้องตาม 4 ทวิ

2. จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในราชฯ หรือมูลคดีไม่ได้เกิดในราชฯ ถ้าจำเลยมีภูมิลำเนาในราชฯ หรือมูลคดีเกิดในราชฯ ฟ้องตามมาตรา 4(1) ได้

3. โจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือ มีภูมิลำเนาอยู่ในราชฯ ฟ้องต่อ

3.1 ศาลแพ่ง

3.2 ศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนา

3.3 ถ้าจำเลยมีทรัพย์ที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชฯ ฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลนั้นได้

ศาลที่เสนอคำร้อง

มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(2) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

อธิบาย

มาตรา 4 (2) ใช้เฉพาะกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอไว้เป็นพิเศษเท่านั้น ถ้ามีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น รองขอเป็นผู้จัดการมรดก การร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคล คำร้องขอที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักร จะไม่ใช้ 4(2) บังคับ คำร้องเช่นนี้ เช่น ร้องสาบสูญ ร้องไร้ความสามารถ

การยื่นคำร้อง 1. ยื่นต่อศาลที่มูลคดีเกิด

2. ยื่นต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล


คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

มาตรา 4 จัตวา คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย

ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล

อธิบาย คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกร้องได้สองศาลคือ

1. ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ขณะถึงแก่ความตาย หมายความว่าภูมิลำเนาของเจ้ามรดกขณะถึงแก่ความตาย ไม่ได้หมายความว่าตายที่ไหน เช่น เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ตายที่กรุงเทพต้องยื่นที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่

2. ศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขต (กรณีเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร) เพราะฉะนั้นทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาลใดยื่นในเขตศาลนั้น ถ้ามีทรัพย์หลายเขตยื่นศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

ข้อสังเกต กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจผู้ร้องเลือกเอาว่าจะยื่นต่อศาลใดในสองศาลนี้ แต่เป็นกรณีถ้าไม่อาจยื่นตาม (1) ได้จึงจะยื่นตาม (2) เท่านั้น ถ้าเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาในราชฯ ต้องยื่นตาม (1)

ฎีกาที่ 5912/39 แม้ผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและถึงแก่ความตายที่จังหวัดพิจิตรแต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องถึง 20 ปี ที่จังหวัดสมุทรปราการและได้ซื้อที่ดินที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย แสดงว่าผู้ตายมีบ้านอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็นภูมิลำเนาของผู้ตาย ผู้ร้องมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ตาม ป.วิ.. มาตรา 4 จัตวา

มาตรา 4 เบญจ คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล

ข้อสังเกต คำร้องใด ๆ ที่เกี่ยวกับนิติบุคคลทั้งหมด ยื่นต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตศาล แม้ว่านิติบุคคลนั้นจะมีสำนักงานย่อยหลายแห่งให้ถือว่าทุกแห่งเป็นภูมิลำเนาก็ตาม

มาตรา 5 คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดีเพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้

คดีที่อยู่ในเขตอำนาจหลายศาลนั้นได้แก่

1. คดีที่ฟ้องจำเลยร่วมกันหลายคนในมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน แต่ละคนมีภูมิลำเนาต่างกัน

2. คดีที่มีมูลคดีเกิดขึ้นหลายท้องที่ที่อยู่ในเขตศาลต่างกัน

3. คดีที่ทรัพย์สินตั้งอยู่ในเขตหลายศาล

4. คดีที่มีหลายข้อหา

ฎีกาที่ 792/41 โจทก์ฟ้องทั้งหนี้สามัญและบังคับจำนองอสังฯ โดยหนี้สามัญมีการทำสัญญากันในเขตอำนาจของศาลหนึ่ง และที่ดินจำนองอยู่ในเขตอำนาจของศาลหนึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

ฎีกาที่ 4760/34 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้นมูลความแห่งคดีของหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งได้

มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันเพราะตัวทรัพย์สินที่เป็นมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน

ฎ๘๖๔๗/๒๕๔๔ แม้ ป.เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดหนองคายขณะถึงแก่ความตาย แต่ อ. และ ก. เจ้ามรดกอีกสองคนมีภูมิลำเนาในขณะถึงแก่ความตายอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม เมื่อ ป. อ. และ ก. ต่างมีที่ดินตั้งอยู่ที่จังหวัดมหาสารคามอันเป็นมรดกร่วมกัน ถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณาร่วมกันได้ ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องของแต่งตั้งผู้จัดการมรกดของเจ้ามรดกทั้งสามรายต่อศาลจังหวัดมหาสารคามได้ตามมาตรา ๔ จัตวาประกอบมาตรา ๕

มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันเพราะการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกกันได้

99/2524 จำเลยที่ 1 ประกอบการค้าตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดวังสุวรรณ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ในการติดต่อซื้อขายไม้รายพิพาท โจทก์เคยติดต่อกับจำเลยที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 195 ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร และที่หน้าบ้านก็เขียนป้ายไว้ว่าห้างวังสุวรรณ ดังนี้ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์อ้าง ก็ถือได้ว่าบ้านเลขที่ 195 ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 อีกแห่งหนึ่งในการติดต่อค้าขายกับโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในกรณีเช่นนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร โจทก์ก็ย่อมฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) และมาตรา 5

(จำเลยที่ ๑ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการ)

2586/2540 สัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรีแล้ว แต่ยังไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อสัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ เมื่อมีการส่งสัญญาดังกล่าวไปให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาในนามผู้ให้เช่าซื้อที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์เพื่อให้สัญญาครบถ้วนบริบูรณ์ ย่อมถือได้ว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาฉบับนี้อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์ตั้งอยู่ในท้องที่เขตปทุมวันซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดในมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องได้ ตามป.วิ.พ. มาตรา 4 ( 1 ) และมาตรา 5

มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันเพราะมูลเหตุรากฐานแห่งคดีเดียวกัน

695/24 ฟ้องจำเลยทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหาย โจทก์ที่ 2 ผู้ขับรถบาดเจ็บ เป็นกรณีโจทก์ทั้งสองมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดี โดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีเป็นสาระสำคัญ มูลกรณีเป็นละเมิดร่วมกัน แม้ค่าเสียหายแยกกัน เป็นโจทก์ร่วมกันในคดีเดียวกันได้

6753/2540 บุคคลใดจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานของหนี้ที่ฟ้องนั้นจะต้องพิจารณาทั้งตามกฎหมายสารบัญญัติและข้อเท็จจริง โจทก์ทั้งสี่มีที่ดินอยู่ติดต่อกันถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายโดยถูกเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯลฯ ฉบับเดียวกัน และโจทก์ทั้งสี่ถูกกำหนดให้ได้รับค่าทดแทนที่ดินโดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเป็นผู้กำหนดโดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน เป็นเกณฑ์พื้นฐานโดยรวมในการกำหนดให้โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่เห็นว่าไม่เป็นธรรม ข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุรากฐานแห่งหนี้ที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเกิดจากการกระทำอันเดียวกัน คือจากหลักเกณฑ์ในการกำหนดให้ค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เป็นธรรมนั้นโจทก์ทั้งสี่ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดต่อกันมีสภาพของที่ดินและทำเลที่ตั้งเป็นแบบเดียวกันถูกจำเลยจ่ายค่าทดแทนโดยการกำหนดให้ในอัตราเท่ากันด้วยหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบธรรมอันเดียวกันกรณีถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงเป็นโจทก์ฟ้องร่วมกันมาในคดีเดียวกันได้

หากเป็นกรณีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันแล้ว โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยคนใดคนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจหรือสถานที่ที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่หรือสถานที่ที่มูลคดีเกิดก็ได้

คดีที่มีหลายข้อหาเกี่ยวพันกัน บางข้อหาอยู่ในอำนาจของศาลพิเศษหรือศาล

ชำนัญพิเศษ บางข้อหาอยู่ในอำนาจของศาลธรรมดา เช่น ระหว่างศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวกับศาลจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจรับข้อหาเกี่ยวพันกันทุกข้อหาไว้พิจารณาได้ แต่ศาลจังหวัดจะรับข้อหาที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนฯไว้พิจาณาพิพากษาไม่ได้

1 ความคิดเห็น:

  1. ปิยะ สมรศาสตร์13/1/56 02:04

    ตัวอย่างในเรื่องสัญญา หากมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นแล้วจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกัน คดีเช่นนี้จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด ก็จะต้องดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก่อนว่า มูลคดีเกิดที่ไหน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือต้องดูว่าสัญญาเกิด ณ ที่ใด (เพราะนั่นคือจุดที่ชี้ให้เห็นว่าข้อเท็จจริงของคดีใกล้ชิดกับศาลใดมากที่สุด หรือที่เรียกว่าจุดเกาะเกี่ยว หรือถิ่นที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาอยู่ ณ ที่ใด) หรือดูที่ภูมิลำเนาจำเลย เพราะภูมิลำเนาจำเลยนั้นเป็นตัวบ่งชี้อีกเช่นกันว่าจำเลยนั้นมีความใกล้ชิดกับเขตอำนาจของศาลใดมากที่สุด นั่นก็คือจุดเกาะเกี่ยวอีกเช่นกัน เพราะโดยหลักกฎหมายลาติน actor sequitur forum rei ที่กฎหมายไทยได้รับอิทธิพลมาจะต้องฟ้องจำเลย ณ ที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาเืพื่อให้จำเลยได้ความยุติธรรมและเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของจำเลยในการป้องกันตนเอง

    หรือในคดีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในวิแพ่งก็กำหนดว่าจะต้องฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ซึ่งในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายก็กำหนดไว้ ก็เพราะว่า อสังหาริมทรัพย์นั้นแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันที่ชัดเจนว่าอยู่ภายใต้เขตอำนาจของพื้นที่ใด ศาลใดโดยไม่อาจปฏิเสธได้ แต่หากเป็นทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ หรือสังหาริมทรัพย์ จะกำหนดอย่างไรว่าทรัพย์ชิ้นนี้จะตกอยู่ภายใตเขตอำนาจของศาลใดเพราะมันสามารถเคลื่อนที่ไปได้เรื่อยจึงต้องอาศัยจุดในการเชื่อมโยงทรัพย์นั้นเข้ากับเขตอำนาจศาลซึ่งจุดเกาะเกี่ยวที่ใช้ก็คือ สัญชาติของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ (ตามกฎหมายในระบบซีวิล ลอว์) หรือภูมิลำเนา (ตามกฎหมายในระบบคอมมอน ลอว์) แล้วแต่กรณี

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น