วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม ม.209 210 215

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่
มาตรา 20
9 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้นผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

- เป็นสมาชิกของคณะบุคคล

- ซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ

- มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

คณะบุคคล คือ การรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป

สมาชิก ต้องมีสิทธิในที่ประชุม (ร่วมปรึกษาหารือลงคะแนนเสียง)

ฎีกาที่ ๓๐๑-๓๐๓/๒๔๗๐ ตกลงกันว่าหากพรรค พวกต้องคดีจะไปช่วยเป็นพยานเท็จให้ และจะออกเงินส่งเสียสมาชิกที่ต้องหาในคดีอาญา การช่วยเป็นพยานเท็จถือว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

ฎีกาที่ ๑๑๗๖/๒๕๔๓ จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังอาวุธโจรก่อการร้ายกระบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ เรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงมีความผิดฐานอั้งยี่

ความผิดสำเร็จเมื่อเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลไม่จำเป็นต้องกระทำการสำเร็จตามความมุ่งหมายนั้น


ความผิดฐานเป็นซ่องโจร
มาตรา 210
ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

- สมคบกันตั้งแต่ คนขึ้นไป

- เพื่อกระทำความผิดในภาค ๒ นี้

- ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ ปีขึ้นไป

สมคบ คือ การร่วมคบคิดกัน (ตามพจนานุกรม) คำว่าสมคบไม่มีในคำนิยาม แต่ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 6 ข้อ 8 ได้ให้นิยามคำว่า สมคบ ว่า ถ้าบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สมรู้ด้วยกันเพื่อจะกระทำผิด ท่านว่าคนเหล่านั้นสมคบกัน ท่านอาจารย์สถิตย์ ไพเราะ ท่านได้ให้ความเห็นเป็นข้อสังเกตไว้ว่า น่าจะนำหลักเรื่องตัวการร่วมกันกระทำความผิดมาตรา 83 มาเทียบเคียงในการตีความได้ ดังนั้น ถ้าบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปแสดงออกซึ่งความตกลงที่จะกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นการสมคบกันแล้ว

ฎีกาที่ 2829/2526 การสมกันเพื่อกระทำความผิด ต้องมีการแสดงออกซึ่งความตกลงที่จะกระทำผิดร่วมกัน มิใช่เพียงแต่มาประชุมหารือกันโดยมิได้ตกลงอะไรกันเลยหรือตกลงกันไม่ได้

ฎีกาที่ 4986/2533 ความผิดฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 นั้นผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำ ความผิด กล่าวคือจะต้องมีการร่วมคบคิดกันหรือแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำความผิดร่วมกันในระหว่างผู้กระทำผิดด้วยกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เพียงแต่ร่วมเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อ โดยเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น จึงเป็นลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 1,2,3 และ 5 มิได้คบคิดกันว่าจะกระทำความผิดร่วมกันรับของโจร จึงไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจร

ฎีกาที่ 2429/2528 จำเลยกับพวกรวม 10 คน จับกลุ่มวางแผนจะใช้ตลับยาหม่องครองเหรียญพนันบนรถโดยสารประจำทาง โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นคนใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญแล้วให้จำเลยอื่นเป็นหน้าม้าแทง จำเลยที่ 1 แจกเงินให้จำเลยอื่นทุกคนเพื่อนำไปแทง ใครได้เสียเท่าไหร่ให้จำไว้ เมื่อเลิกเล่นแล้วจะคืนให้หมด จำเลยอื่นขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารประจำทาง ส่วนจำเลยที่ 5 รออยู่ที่สถานีขนส่ง เมื่อรถยนต์โดยสารออกจากสถานีขนส่ง จำเลยที่ 1 ก็เริ่มเล่นการพนันกัน แล้วชักชวนผู้โดยสารมาแทง อันเป็นการสมคบกันเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริต

อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 5 จะมิได้ขึ้นไปบนรถโดยสารด้วยแต่รออยู่ที่สถานีขนส่งแล้วจะขับรถตามมารับพวกจำเลยเมื่อเลิกเล่นกันแล้ว อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลย

ที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 5 จึงเป็นความผิดฐานซ่องโจร

- เพื่อกระทำความผิดในภาค ๒ นี้

มาตรา 210 จำกัดเฉพาะความผิดในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 นี้ เท่านั้น การกระทำผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดตาม พรบ.ยาเสพติด ฯลฯ ไม่อยู่ในองค์ประกอบข้อนี้ แต่อาจเป็นความผิดฐานอั้งยี่ได้

- ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ปีขึ้นไป

ให้ดูในระวางโทษของแต่ละมาตรา

ถ้ามีการสมคบกันกระทำความผิด และได้กระทำความผิด ไม่ว่าจะกระทำได้สำเร็จหรือไม่ก็ตามความผิดฐานซ่องโจรก็สำเร็จลงแล้ว ถ้าได้กระทำความผิดตามที่สมคบกัน ก็จะเกิดความผิดขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง เป็นกรณีกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ฎีกาที่ 4548/2540 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คนวางแผนกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนแม้ไม่ได้ไปปล้นด้วยก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการ

ร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตาม ปอ. มาตรา 213 และ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวกจำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจร เพื่อจะไปปล้นทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ฎีกาที่ 1719/34 จำเลยกับพวกรวมห้าคนปรึกษากันว่าจะไปปล้นรถจักรยานยนต์เป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิด และการกระทำความผิดที่สมคบกันเพื่อจะไปกระทำนั้นเป็นการปล้นทรัพย์ อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ . ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 วรรคสอง

ความผิดฐานมั่วสุม ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มั่วสุม

- ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป

- ก. ใช้กำลังประทุษร้าย

ข. ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

ค. กระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

คำว่า มั่วสุม หมายความว่า ชุมนุมกัน

ฎีกาที่ ๗๗๒/๒๔๘๒ การมั่วสุมไม่จำต้องนัดหมายร่วมกันมาก่อน แต่การกระทำตอนใช้กำลังประทุษร้าย ต้องกระทำด้วยความประสงค์ร่วมกัน เช่น การเดินขบวนประท้วงใช้ความรุนแรงต่าง ๆ

ฎีกาที่ ๒๓๘๗/๒๕๓๖ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำและสั่งการในการนัดหยุดงานของลูกจ้างประมาณ ๓๐๐คน การนัดหยุดงานดังกล่าว มิได้เป็นไปตามขั้น ตอนและเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงาน สัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ แต่เพื่อต่อรองบีบบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน เมื่อปรากฏว่า มีการปะทะและทำร้ายซึ่งกันและกันระ หว่างลูกจ้างที่นัดหยุดงานและลูกจ้างที่ประสงค์จะเข้าทำงาน เข้าออก ได้มีการขว้างปาวัตถุก้อนดินเข้าไปในโรงงาน เหตุเกิดริมถนนสาธารณะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐาน ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

วรรคสอง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ร่วมกระทำผิดต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก ปัญหาว่า คำว่า มีอาวุธ คนอื่น ๆ ที่ร่วมในการมั่วสุมต้องรู้หรือไม่ และจะถูกลงโทษตามวรรคสองหรือไม่นั้น ขออธิบายว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่าผู้ร่วมกระทำความผิดต้องรู้ ดังนั้นแม้ผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นไม่รู้ก็ต้องรับผิดด้วย แต่หากว่าเผอิญคนที่พกพาอาวุธไปนั้นได้ใช้อาวุธในการทำร้ายผู้อื่น การใช้อาวุธทำร้ายผู้อื่นเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำผิดคนอื่นจึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งความตายนั้นด้วย ส่วนในข้อหาพาอาวุธเข้าไปในเมืองตามมาตรา ๓๗๔ นั้นเอาผิดเฉพาะผู้พาอาวุธ ผู้ร่วมกระทำผิดไม่ต้องรับผิดส่วนนี้ด้วย คงรับเฉพาะวรรคสองแห่งมาตรา ๒๑๔ เท่านั้น

ผู้กระทำความผิดเกิน สิบคน จะทำให้เราวินิจฉัยยาก เพราะจะสามารถเป็นได้ทั้งอั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม หลักการวินิจฉัยคือ
๑. ให้ดูก่อนว่า เป็นการรวมตัวกันในลักษณะถาวรหรือไม่ ถ้าถาวร เป็นสมาคม จะเป็นอั้งยี่ ถ้าไม่ถาวร อาจเป็นได้ทั้งซ่องโจร และมั่วสุม (ไม่ถาวรคือ รวมกันเฉพาะกิจครั้งใดครั้งหนึ่งเท่านั้น)
๒. ถ้าการรวมตัวมีลักษณะไม่ถาวร ให้ดูว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาภาคสองหรือไม่ ถ้าใช่ เป็นซ่องโจร ถ้าเป็นความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ชุมนุม พรบ.จราจร (แข่งรถ) เป็นมั่วสุม

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ16/2/55 17:36

    สมมติว่า นายก.เป็นผู้ไปดาวน์รถ จยย.กับทางร้าน แล้ว นำมามอบให้ นาย ข. โดยมี นาย ค.เป็นผู้ออกเงินทั้งหมดให้ เมื่อนาย ข.ได้รถ จยย.มาแล้ว ได้นำรถคันดังกล่าวมามอบให้ นาย ค. นาย ค.นำรถ จยย.คันดังกล่าวมาฝากรถขนส่งสินค้าของบริษัท นาย ง. เพื่อไปส่งที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จากนั้นจะมีนาย จ.นำรถ จยย.คันดังกล่าวส่งไปขายที่ประเทศพม่า ( ต่อมาประมาณ 2-3 เดือนนาย ก.จะไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ารถหาย ) พฤติการณ์ดังกล่าวจะเข้าข้อหา ซ่องโจรหรือไม่

    ตอบลบ
  2. ข้อเท็จจริงไม่ชัดค่ะว่า มีการสมคบกันหรือเปล่า ตอบไม่ได้ค่ะ เพราะข้อเท็จจริงว่าสมคบกันสำคัญมาก และสงสัยข้อเท็จจริงที่ถามมาหลายประการค่ะ นาย ก. เป็นผู้ไปดาวน์รถ และต่อมานายก. ไปแจ้งว่ารถ หาย ตกลงไม่ทราบชัดว่า นายก. มีส่วนอะไรในกระบวนการที่คุณกล่าวมาหรือเปล่าค่ะ ขอข้อเท็จจริงให้ชัดสักนิดนะคะ ถ้าเป็นข้อสอบ ข้อเท็จจริงแบบนี้ ถูกตีกลับแน่นอนเลยค่ะ เพราะมัดประเด็นมาไม่ชัดเจน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ27/9/55 11:41

      ผมขอตอบว่าไม่เข้า เนื่องจากไม่ครบ 5 คน เนื่องจาก ง. เป็นบุคคลจากภายนอก ไม่มีส่วนในการสมคบ

      ลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ19/2/55 12:10

    หากมีการจัดตั้งเป็นชมรมเพื่อวัตถุประสงค์ในการพบปะสังสรรค์และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมเป็นครั้งคราว โดยใช้บ้านของประธานชมรมเป็นที่ตั้ง หากสมาชิกชมรมบางท่านมีการกระทำผิดทางกฎหมาย เช่น ครอบครองยาเสพติด มั่วสุมทางเพศ ฯลฯ ในสถานที่ตั้งของชมรม ทางประธานชมรมซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ตั้งและกรรมการรวมทั้งสมาชิกชมรมท่านอื่นๆจะมีความผิดตามกฎหมายมั๊ยค่ะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ม่ีความผิดค่ะ ถ้าสืบได้ว่า ตนเองตั้งชมรมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ แต่สมาชิกเองต่างหากที่ไปทำผิดเป็นการส่วนตัว

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น