ลักษณะของตั๋วเงิน
ตั๋วเงินคือเอกสารที่คู่สัญญาใช้เป็นหลักฐานทางการเงิน เป็นนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นไป จัดเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีที่มาจากมูลหนี้เดิม มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocal contract) บุคคลที่จะเข้าเป็นคู่สัญญาตั๋วเงินได้ต้องมีความสามารถตามมาตรา ๑๕๓ และต้องแสดงเจตนาเข้ามาเป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินด้วยความสมัครใจตามมาตรา ๑๔๙ ปราศจากความสำคัญผิด กลฉ้อฉล หรือการข่มขู่ เช่นเดียวกับการทำสัญญาทั่วไป
ลักษณะสำคัญของตั๋วเงิน คือ
๑. เป็นเอกสารที่เป็นตราสาร กล่าวคือ เป็นหนังสือสัญญาที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่ผู้ทรงตราสาร โดยมาตรา ๘๙๘ บัญญัติให้ตั๋วเงินมีสามประเภท ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน, ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค ตราสารอื่นที่ไม่ใช่ตราสารทั้งสามประเภทนี้ไม่ใช่ตั๋วเงิน เช่น เลตเตอร์ออฟเครดิต, ใบรับของในคลังสินค้า, ใบประทวนสินค้า, ใบหุ้น เอกสารเหล่านี้ แม้เป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้แต่ก็ไม่นับว่าเป็นตั๋วเงิน
๒. ตั๋วเงินต้องมีมูลหนี้การออกตั๋วเงินนั้นต้องเป็นการออกเพื่อชำระหนี้ ตั๋วเงินไม่ได้ก่อให้เกิดหนี้ในตัวเอง ดังนั้นหากออกตั๋วเงินโดยไม่มีมูลหนี้ผู้ออกตั๋วไม่ต้องรับผิด เช่น การออกตั๋วเงินเพื่อชำระหนี้การพนันอันหาก่อให้เกิดหนี้ไม่ ตั๋วเงินนั้นไม่อาจบังคับได้เพราะเป็นการออกตั๋วโดยไม่มีมูลหนี้
๓. คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน กล่าวคือ ต้องมีลักษณะเป็นคำสั่ง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้จ่ายใช้ดุลยพินิจในการจ่าย เช่น “กรุณาจ่ายเงินให้แก่นายดำ” เช่นนี้ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่นายดำ แม้จะใช้คำว่า โปรดหรือกรุณาก็เป็นเพียงการใช้คำสุภาพเท่านั้น
แต่หากว่า ตั๋วเงินมีข้อความ “ถ้าจะจ่ายเงิน กรุณาจ่ายให้แก่นายดำ” เช่นนี้ ไม่มีลักษณะเป็นคำสั่งเพราะเปิดโอกาสให้ผู้จ่ายใช้ดุลยพินิจว่าจะจ่ายเงินหรือไม่ ไม่ใช่ลักษณะของตั๋วเงิน
คำสั่งต้องปราศจากเงื่อนไขในการจ่ายเงิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนหรือบังคับหลังก็ตาม เงื่อนไขคือเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น จะจ่ายต่อเมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะสอบเข้า ม. ธรรมศาสตร์ได้หรือไม่ถือเป็นการจ่ายโดยมีเงื่อนไข ต้องห้ามตามลักษณะตั๋วเงิน
ต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินสกุลใดก็ได้ แต่ต้องมีจำนวนที่แน่นอน เช่น การระบุดอกเบี้ยไว้ ๗% ถือว่าเป็นการระบุจำนวนเงินที่แน่นอนเพราะสามารถคำนวณจำนวนเงินที่แน่นอนได้
ตั๋วเงินแบ่งออกเป็นสามประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน, ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค
ตั๋วแลกเงิน มีลักษณะสำคัญดังนี้
มาตรา 908 อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือหนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จ่ายให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน
จากบทบัญญัติมาตรา ๙๐๘ ตั๋วแลกเงินมีลักษณะ ดังนี้
๑. เป็นเอกสารอันเป็นตราสาร มีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ๓ ฝ่าย ได้แก่
๑.๑ ผู้สั่งจ่าย (Drawer) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้จ่ายตามมูลหนี้เดิมและอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ผู้รับเงิน หรือผู้ถือตามมูลหนี้เดิมและมูลหนี้ในตั๋ว
๑.๒ ผู้จ่าย (Drawee) อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ของผู้สั่งจ่ายตามมูลหนี้เดิม
๑.๒ ผู้รับเงิน (Payee) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้สั่งจ่ายตามมูลหนี้เดิมและปัจจุบันเป็นเจ้าหนี้ตามตั๋วแลกเงินฉบับนี้ด้วย
๒. ตั๋วแลกเงินต้องมีรายการดังต่อไปนี้
มาตรา 909 อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
(2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน
(3) ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย
(4) วันถึงกำหนดใช้เงิน
(5) สถานที่ใช้เงิน
(6) ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(7) วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน
(8) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
ตั๋วสัญญาใช้เงิน มีลักษณะสำคัญดังนี้
มาตรา 982 อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า
ผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน
จากบทบัญญัติมาตรา ๙๘๒ ตั๋วสัญญาใช้เงินมีลักษณะ ดังนี้
๑. เป็นเอกสารอันเป็นตราสาร มีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ๒ ฝ่าย ได้แก่
๑.๑ ผู้ออกตั๋ว (Maker) อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ผู้รับเงิน
๑.๒ ผู้รับเงิน (Payee) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้ออกตั๋ว
โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามมูลหนี้เดิมและมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินอาจถูกนำออกใช้ในกรณีผู้ออกตั๋วไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระหนี้และไม่มีลูกหนี้ที่ตนจะสั่งชำระหนี้แทน ดังนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่มีผู้จ่ายเนื่องจากผู้ออกตั๋วนั้นเองเป็นผู้จ่าย
๒. ตั๋วสัญญาใช้เงินต้องมีรายการดังต่อไปนี้
มาตรา 983 ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ต้องมีรายการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
(2) คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(3) วันถึงกำหนดใช้เงิน
(4) สถานที่ใช้เงิน
(5) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
(6) วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
(7) ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว
เช็ค มีลักษณะสำคัญดังนี้
มาตรา 987 อันว่าเช็คนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอันเรียกว่าผู้รับเงิน
จากบทบัญญัติมาตรา ๙๘๗ เช็คมีลักษณะ ดังนี้
๑. เป็นเอกสารอันเป็นตราสาร มีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ๓ ฝ่าย ได้แก่
๑.๑ ผู้สั่งจ่าย (Drawer) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร โดยนำเงินมาฝากไว้กับธนาคารประเภทกระแสรายวัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้เช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินหรือผู้ถือ
๑.๒ ธนาคารผู้จ่ายเงิน (Banker) อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ของผู้สั่งจ่ายตามสัญญากระแสรายวัน และมีหน้าที่ให้บริการแก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย
๑.๒ ผู้รับเงิน (Payee) หรือผู้ถือ (Bearer) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้สั่งจ่ายตามมูลหนี้เดิม และปัจจุบันหากเป็นผู้ครอบครองเช็คนั้นก็จะอยู่ในฐานเป็นเจ้าหนี้ผู้สั่งจ่ายตามเช็คนั้นด้วย
๒. เช็คต้องมีรายการดังต่อไปนี้
มาตรา 988 อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
(2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(3) ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักของธนาคาร
(4) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(5) สถานที่ใช้เงิน
(6) วันและสถานที่ออกเช็ค
(7) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
มาตรา 898 อันตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภท ๆ หนึ่ง
คือ ตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่งคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่งคือเช็ค
อธิบาย ตั๋วเงินเป็นหนังสือตราสาร บุคคลที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินต้องมีความสามารถ ไม่ถูกข่มขู่ ปราศจากกลฉ้อฉล สมัครใจ เช่นเดียวกับนิติกรรมทั้งหลายทั่วไป
ลักษณะเด่นชัดของตั๋วเงิน คือ เป็นเอกสารที่มีข้อความเป็นคำสั่งให้จ่ายเงินให้แก่ผู้ทรงตราสาร
ตั๋วเงินมี ๓ ประเภทเท่านั้นคือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ เช็ค (ระวัง! Draft เป็นตั๋วแลกเงินธนาคาร) ใบประทวนสินค้า Letter of Credit ไม่ใช่ตั๋วเงิน
มาตรา 899 ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
อธิบาย ข้อความในตั๋วเงินจะมีผลบังคับเฉพาะที่กฎหมายระบุให้เขียนไว้เท่านั้น ข้อความที่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ให้เขียน ไม่ได้ทำให้ตั๋วตกเป็นโมฆะหรือเสียไปแต่อย่างใด ผลก็คือถือว่าไม่ได้เขียนข้อความดังกล่าวไว้เลยนั่นเอง
ข้อสังเกต ข้อความต่างๆ ที่กฎหมายบัญญัติให้เขียนได้
๑ รายการต่างๆในตั๋วแลกเงิน (๙๐๙) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (๙๘๓) และเช็ค (๙๘๘)
๒ ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลัง (๙๑๕)
๓ ข้อกำหนดเกี่ยวกับดอกเบี้ย (๙๑๙)
๔ ผู้สั่งจ่ายลงข้อความห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอน (มาตรา ๙๑๗ วรรค ๒) ผู้สลักหลังลงข้อความห้ามสลักหลัง (๙๒๓)
๕ การอาวัล (๙๓๙)
๖ การสอดเข้าแก้หน้า (๙๕๒,๙๕๗)
๗ บันทึกข้อความที่ไม่จำต้องมีในคำคัดค้าน (๙๖๔)
๘ บันทึกข้อความรับรองการใช้เงิน (๙๓๑) ธนาคารรับรองเช็ค ๙๙๓ วรรคแรก)
๙ การลงข้อความกำหนดห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอน (๙๙๕)
ฎีกาที่ ๓๗๕๙/๒๕๔๒ การที่จำเลยขีดเส้นดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่าให้กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งใดแก่เช็คไม่ ถือว่าจำเลยออกเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่ เมื่อโจทก์ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึงลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา ๙๐๐ ประกอบ ๙๘๙
ฎีกาที่ ๔๒๐๑/๒๕๓๐ ข้อความตามตราประทับด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีใจความว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเช็คเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยแล้วนั้น เป็นข้อความที่ขัดต่อ ๙๘๒(๒) จึงไม่มีผลบังคับ
ขอขอบพระคุณครับ (ไพศาล)
ตอบลบขอบคุณมากมายครับ ผมจะเรียนวิชานี้พรุ่งนี้ล้ว ขอบคุณสำหรับข้อมูลก่อนเข้าเรียนนะครับ
ตอบลบขอบคุณค่ะหานานมาก เจอและ
ตอบลบขอบคุณค่ะ
ตอบลบขอบคุณค่ะ ได้ข้อมูลทำรายงานเยอะเลย
ตอบลบขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลดีดี
ตอบลบ