วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ม.๒๒๔ ป.วิแพ่ง ตอนที่ ๑


มาตรา 224    ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้  หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้    ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี
          บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ  ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้    ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
          การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น  เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น   ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง


อธิบาย

            ในมาตรา ๒๒๔ นี้ มีปัญหาที่นักศึกษาจะต้องทำความเข้าใจอยู่หลายประเด็น จึงขอแยกบรรยาย เป็นตอนๆ เป็นประเด็นไป
ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  เว้นแต่ทุนทรัพย์เกิน 50,000 บาท 
ถ้าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอุทธรณ์ได้เสมอเว้นแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น หรือไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยฯ  หรือไม่เป็นสาระสำคัญอันควรแก่การวินิจฉัย

ประเด็นแรกที่นักศึกษาจะต้องทำความเข้าใจคือ ทุนทรัพย์คืออะไร  อย่างไรชื่อว่าทุนทรัพย์ จำนวนของทุนทรัพย์คิดกันอย่างไร 

1.  ราคาทรัพย์สินกับจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์มีความหมายแตกต่างกัน   ทั้งนี้เพราะราคาทรัพย์สินเป็นการฟ้องเรียกเอาตัวทรัพย์  ส่วนทุนทรัพย์พิพาทกันนั้นเป็นการฟ้องเรียกให้ชำระตัวเงินที่กำหนดไว้แล้ว   ราคาทรัพย์สินที่ตีราคามาแต่แรกแล้วไม่เปลี่ยนไปในชั้นอุทธรณ์แต่ทุนทรัพย์อาจเปลี่ยนแปลงไปแตกต่างจากที่ฟ้องมาในศาลชั้นต้นได้  ดังนั้นราคาทรัพย์สินที่พิพาทต้องถือเอาตามที่โจทก์ยื่นฟ้องจะนำเอาราคาทรัพย์สินที่อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นมาคำนวนเป็นราคาทรัพย์สินในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้ (1439/39)
2.  ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์พิพาทที่ถูกจำกัดสิทธิห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงคือไม่เกิน 50,000 บาท   อนึ่ง  จำนวนทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์กับจำเลยในการใช้สิทธิอาจแตกต่างกันเช่น  โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ 100,000 บาท   จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จศาลพิพากษาดังนี้
2.1        พิพากษายกฟ้อง
2.2        พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์  80,000 บาท
2.3        พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์  20,000 บาท
ตามข้อ 1   หากโจทก์ประสงค์จำอุทธรณ์ โจทก์ต้องขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท ซึ่งเกิน 50,000 บาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริง
ตามข้อ 2   หากโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์  คงต้องอุทธรณ์ขอให้ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ในส่วนที่ยังขาดอยู่คือ  20,000 บาท   กรณีนี้เป็นทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท    ต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  ส่วนฝ่ายจำเลยถ้าอุทธรณ์ก็คงต้องอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ดังนั้นทุนทรัพย์ของฝ่ายจำเลยจึงมีจำนวน 80,000 บาท ไม่ต้องห้าม
ตามข้อ หากโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ต้องอุทธรณ์ขอให้ศาลแก้ไขพิพากษาในส่วนที่ขาดอีก 80,000 บาทดังนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์  ส่วนฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์เท่ากับทุนทรัพย์  20,000  บาท   ห้ามอุทธรณ์
ฎีกาที่  1459/39   อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้เถียงว่าที่พิพาททั้งหมดมิใช่ทรัพย์มรดกหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอุทธรณ์    จำเลยย่อมได้รับผลตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งคดี จึงเป็นคดีที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามราคาทรัพย์พิพาทคือ  54,000  บาท  โดยไม่แยกทุนทรัพย์ตามที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องเมื่อที่พิพาทมีราคาเกินกว่าห้าหมื่นบาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  (ส่วนฝ่ายโจทก์ต้องแยกทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนไม่คิดรวมกัน เมื่อแยกแล้วไม่เกิน 50,000 บาท ฝ่ายโจทก์ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง)
ฎีกาที่  2433/38    โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกที่ดินของโจทก์ในลักษณะที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมแม้จะฟ้องรวมกันและเสียค่าขึ้นศาลรวมกันมาในคดีเดียวกัน   แต่คดีสำหรับจำเลยคนใดจะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่  ต้องแยกพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ตามที่จำเลยแต่ละคนพิพาทกับโจทก์ เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามคดีของจำเลยแต่ละคนไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ฎีกาที่  53-54/40   คำฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกร้องสิทธิในที่ดินเป็นคนละแปลงกัน โดยต่างยื่นคำฟ้องและเสียค่าขึ้นศาลในส่วนคดีของตนแยกกันเป็นส่วนสัด การรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันจึงเป็นไปเพื่อความสะดวกของคู่ความและศาลเท่านั้น หามีผลทำให้สามารถนำทุนทรัพย์ของแต่ละสำนวนที่โจทก์ฟ้องมารวมคิดเป็นจำนวนเดียวกันได้แต่อย่างใดไม่ทั้งการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมาทั้งสองสำนวนก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับรองให้คู่ความในสำนวนที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท อุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้โดยปริยายแต่อย่างใด เพราะการรับรองให้คู่ความอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้นั้นจะต้องเกิดจากการร้องขอคู่ความผู้ประสงค์จะอุทธรณ์โดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลให้เป็นกิจจะลักษณะและต้องมีคำสั่งศาลรับรองให้อุทธรณ์ได้โดยชัดแจ้งด้วย ส่วนราคาทรัพย์ที่พิพาทที่จะนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ของแต่ละคดีนั้นต้องถือเอาในขณะยื่นคำฟ้องเป็นหลัก
ถ้าฟ้องแล้วขอหักกลบลบหนี้กับจำเลย จำนวนทุนทรัพย์คือจำนวนตามฟ้องลบด้วยจำนวนที่ขอหักกลบลบหนี้  (จำนวนทุนทรัพย์ = ฟ้อง จำนวนที่ขอหักกลบ)
ฎีกาที่  6420/40   ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงว่า หนี้ที่จำเลยต้องชำระมีเพียง 28,000 บาท เมื่อโจทก์รับว่าเป็นหนี้จำเลย 39,000 บาท และขอหักกลบลบหนี้ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชดใช้เงิน 63,000 บาท จึงมีจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เพียง 45,000 บาท (63,000 – 28000 = 45,000 บาท) ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่  5894/41  โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 105,000 บาท  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพียง 50,000 บาท เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์เท่ากับโจทก์พอใจในคำพิพากษา  เมื่อจำเลยอุทธรณ์แต่ฝ่ายเดียวว่าไม่ต้องรับผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เท่ากับทุนทรัพย์ในคดีเป็น 50,000 บาท จะนำดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จมาคำนวนเป็นทุนทรัพย์ด้วยไม่ได้  คดีนี้จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้
3.            การจะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่    ไม่ต้องคำนึงว่าคดีนั้นเกี่ยวด้วยอสังหาฯ
หรือไม่  มีข้อพิจารณาเพียงราคาทรัพย์สินอันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์เกิน 50,000 บาท
            4.  คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง ผู้เช่า    ผู้อาศัย   และผู้ละเมิดด้วย
(กฎหมายเดิมผู้ละเมิดไม่อยู่ในบังคับมาตรานี้จึงอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้  กฎหมายปัจจุบันรวมผู้ละเมิดให้อยู่ในบังคับด้วย )
            5.  คดีฟ้องขับไล่หรือเรียกเอาค่าเช่า หรืออาจให้เช่าได้ขณะยื่นฟ้องไม่เกิน 4,000 บาท หมายความว่าการฟ้องบุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ถ้าอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ก็ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
            การจะถือว่าค่าเช่าขณะยื่นฟ้องเท่าใดมีหลักการพิจารณาว่าในชั้นแรกถ้าโจทก์ยื่นฟ้องระบุค่าเช่ามาและจำเลยมิได้โต้แย้งเรื่องค่าเข่า ต้องถือค่าเช่าตามฟ้องโจทก์  ถ้าฟ้องเรียกค่าเช่าและค่าเสียหาย ค่าเสียหายมิใช่ค่าเช่าดูเฉพาะค่าเช่าว่าเกิน 4,000 บาทหรือไม่
ฎีกาที่  1466-1468/18   ฟ้องขับไล่ผู้เช่าจากที่ดินและตึกแถวค่าเช่าเดือนละ 150 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตาม  ป... มาตรา 224 วรรค  2   แม้จะเรียกค่าเสียหายมาด้วยเดือนละ 10,000 บาท     ก็เป็นค่าเสียหายในอนาคตเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องขับไล่ จึงอุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ได้   
ถ้าคดีฟ้องขับไล่นั้นจำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ด้วย  ต้องถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง  ตามราคาอสังฯ
ที่พิพาทกันไม่ต้องดูเรื่องค่าเช่า  แต่ถ้าเป็นการโต้เถียงว่าเป็นของบุคคลอื่นไม่ใช่ของจำเลยไม่ใช่ต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์  ต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ต้องเถียงว่าเป็นของจำเลย
ฎีกาที่  1501,1502/17    โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่า อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าที่ดินและห้องพิพาทเป็นของบุคคลอื่น ไม่ใช่ของโจทก์  ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์  คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง 
ฎีกาที่  4951/33  โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายจากจำเลย โดยค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์  จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินของราชพัสดุ    แม้จำเลยจะเรียกกรมธนารักษ์เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ก็มิใช่กรณีจำเลยต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์เมื่อ จึงต้องฟังว่าค่าเช่า 1,200 บาทตามฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
- ถ้าเป็นการขับไล่ต่างรายกันแม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องแยกคิดทุนทรัพย์มิใช่นำเอาค่าเช่าทุกรายมารวมกัน
คำสั่งคำร้องที่  151/20   ในกรณีรวมพิจารณาหลายสำนวนเข้าด้วยกันการพิจารณาสิทธิอุทธรณ์ฎีกาของคู่ความจะต้องแยกพิจารณาเป็นรายสำนวนไป
ฎีกาที่  2676/28   จำเลยเช่าตึกแถวเพียงเดือนละ 100 บาท แต่จ่ายเงินล่วงหน้าให้ไปอีก  55,000  บาท จึงเป็นการจ่ายเงินกินเปล่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า

ในตอนที่ ๒ จะได้กล่าวถึง  คดีมีทุนทรัพย์ และคดีไม่มีทุนทรัพย์ต่อไป 

http://natjar2001law.blogspot.com/2012/03/blog-post.html

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การสอบสวนที่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้อง





การสอบสวนที่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้อง 

ในการอ่านบทความนี้ ควรที่จะอ่านบทความเรื่องการสอบสวนตามมาตรา  ๑๘ และ ๑๙ ให้เข้าใจเสียก่อน

การสอบสวนที่ไม่ชอบ  คือ  การสอบสวนที่มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วย การสอบสวน
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การสอบสวนที่ไม่ชอบ  มีผลเท่ากับไม่ได้มีการสอบสวนในคดีนั้น ส่งผลกระทบถึงอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ ตามมาตรา  ๑๒๐ 
มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดย มิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
มาตรา 121 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ 
แต่ไม่ใช่ว่า การสอบสวนที่มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งหมดจะเสียไปจนส่งผลกระทบถึงอำนาจฟ้อง  การสอบสวนที่ไม่ชอบสามารถส่งผลได้  ๒  กรณี  คือ
๑.  การสอบสวนเสียไป  พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
๒.  การสอบสวนไม่เสียไป  พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง  เพียงแต่ส่งผลกระทบถึงการรับฟังพยานหลักฐานเท่านั้น

การสอบสวนที่มิได้กระทำตามบทบัญญัติว่าด้วยเขตอำนาจสอบสวน ตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๑๘ และ ๑๙  รวมไปถึงการสอบสวนความผิดต่อส่วนตัวโดยมิได้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิอาญา มาตรา ๑๒๑  เท่านั้น  ที่จะมีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด  ซึ่งกระทบถึงอำนาจฟ้องตาม 
(ติดตามอ่านรายละเอียดของสองมาตรานี้ในบทความเรื่อง อำนาจฟ้อง)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2550
โจทก์ ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 570 เม็ด และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 70 เม็ด แก่ผู้มีชื่อ และโจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 500 เม็ด และจับพวกจำเลยเจ็ดคน พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองคนละ 10 เม็ด ได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานที่ตำรวจนครบาลแสมดำ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่าย จึงเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับพวกจำเลยอีก 2 คนที่ถูกจับในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มิใช่ความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) จึงอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแสมดำตามมาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางบอนที่สอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2549
การ สอบสวนที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 18 เมื่อเหตุที่อ้างว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่ ส. เกิดที่บ้านในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายภายหลังจากนั้นอีก ในประการใด ท้องที่ซึ่งจำเลยถูกจับก็อยู่ภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกำแพงเพชร และไม่ปรากฏเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนจำเลยโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองจึงเป็นการสอบ สวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2549
เหตุ คดีนี้เกิดในพื้นที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบ สวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ มิได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดซึ่ง ได้เกิดขึ้นในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าเป็นกรณีพยานโจทก์ผู้จับกุมไม่แน่ใจว่าการกระทำผิด อาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายความเฉพาะเมื่อสภาพการกระทำผิดอาญานั้นเองเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัว ว่า เป็นการไม่แน่ว่ากระทำขึ้นในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบ สวน มิได้หมายความถึงกรณีที่ตัวพนักงานสอบสวนหรือผู้จับกุมสับสนในเรื่องพื้นที่ เขตอำนาจของตนเสียเอง ทั้งที่เป็นการแน่นอนแล้วว่าความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญยังขืนสอบสวนความผิดนี้ การสอบสวนนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน เมื่อยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

การสอบสวนที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่มีผลทำให้อำนาจฟ้องเสียไป  มีผลเพียงแต่คำให้การนั้นๆ  ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ (มีผลต่อการชั่งน้ำหนักคำพยานเท่านั้น)  เช่น  การสอบสวนที่ไม่ได้จัดหาทนายให้แก่จำเลย
ตาม  ๑๓๔  จะมีผล ตามมาตรา  ๑๓๔/๔ วรรคสาม ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และ มาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้

หรือในการสอบปากคำผู้ต้องหา หรือผู้เสียหายเด็ก  ที่มิได้กระทำตามมาตรา  ๑๓๓ ทวิ  หรือ  ๑๓๓  ตรี  ไม่มีผลทำให้การสอบสวนเสียไป  คงมีผลเพียงแต่ใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลไม่ได้ตาม  ป.วิ อาญา มาตรา ๒๒๖  ประกอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐  มาตรา  ๒๔๓ วรรคสอง  เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549 
ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ คำให้การของเด็กหญิง ว. จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ คงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กหญิง ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 วรรคสอง เท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
แม้การสอบสวนเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิง ว. เป็นพยาน และเด็กหญิง ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิง ว. เป็นพยานได้

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวน ม.๑๙ วรรคสาม และเทคนิคการทำข้อสอบ




พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวน ม.๑๙ วรรคสาม

ในกรณีที่ความผิดเกิดมากกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่พนักงานสอบสวนตาม (๑) –(๖)  มีอำนาจทำการสอบสวน  แต่พนักงานสอบสวนที่จะมีอำนาจสรุปสำนวนส่งฟ้อง กล่าวคือเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบการสอบสวนได้นั้น  จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในวรรคสาม  หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้การสอบสวนนั้นเสียไป  พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการ สอบสวน
(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับ ได้อยู่ในเขตอำนาจ
(ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการ กระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ

ก่อนอื่นนักศึกษาพึงทำความเข้าใจกับคำว่า พนักงานสอบสวนที่พบการกระทำความผิดก่อน  ให้เข้าใจเสียก่อน
พนักงานสอบสวนที่พบการกระทำความผิดก่อน  คือพนักงานสอบสวนที่ได้เริ่มทำการสอบสวนโดยรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไว้เป็นที่แรก  เช่น  นายดำ  พรากเด็กหญิงแดงไปจากนางขาวมารดา จากบ้านที่บางนา  โดยพาเด็กหญิงแดงไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ  นางขาวเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายดำต่อ  ร.ต.อ.เขียว  ที่ สน.บางนา   ร.ต.อ. เขียว ได้ดำเนินการออกหมายจับนายดำ  จากการสืบสวนพบว่า นายดำพา เด็กหญิงแดงไปอยู่ที่  ต.สำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ  จึงได้ประสานงานไปยัง สภต.สำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการให้ดำเนินการจับกุมนายแดง  เมื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน  สภต.สำโรงเหนือดำเนินการจับกุมนายแดงเรียบร้อยแล้วจึงนำส่งยัง  พ.ต.ต.ฟ้า  พนักงานสอบสวน  สภต.สำโรงเหนือ  เมื่อปรากฏว่าความผิดฐานพรากผู้เยาว์  เป็นความผิดต่อเนื่องกันไปที่กระทำลงในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตาม (๓) พนักงานสอบสวน สน.บางนา และ สภต. สำโรงเหนือ จึงมีอำนาจดำเนินการสอบสวน  แต่การสรุปสำนวนหรือรับผิดชอบการสอบสวนนั้น จะต้องเป็นไปตาม (ข) คือในขณะพบการกระทำความผิดยังจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้ ต่อมาจับได้ในภายหลัง  ผู้ที่จะมีอำนาจสอบสวนคือ  พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน ได้แก่ท้องที่ที่มีการเริ่มทำการสอบสวนก่อนนั่นเอง  ในกรณีตัวอย่างนี้คือ  สน.บางนา 

(ก) นั้น  จะใช้ต่อเมื่อ  จับตัวผู้ต้องหาได้ โดยไม่มีการเริ่มทำการสอบสวนมาก่อนเลย  ไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์มาก่อนเลยเท่านั้น  เช่น  นายดำกับพวกโดยสารรถไฟไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างทาง  นายดำกับพวกร่วมกันเล่นการพนันบนรถไฟ  เมื่อรถจอดถึงสถานีนครสวรรค์  เจ้าพนักงานตำรวจพบว่านายดำกับพวกกระทำความผิดตาม พรบ. การพนันจึงดำเนินการจับกุม จะเห็นได้ว่า กรณีนี้ ไม่มีการร้องทุกข์หรือเริ่มทำการสอบสวนมาก่อน  ดังนั้น พนักงานสอบสวนจังหวัดนครสวรรค์  จึงเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนตาม (๕) และเป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบการสอบสวนตาม (ก) เพราะเป็นผู้จับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว 

สิ่งที่ทำให้นักศึกษาสับสนคือคำว่า  จับตัวได้กับจับตัวไม่ได้  ตาม (ก) และ (ข)  นั่นเอง  ดังนั้น เพื่อความเข้าใจ  ขอให้นักศึกษาทำความเข้าใจว่า
(ก) จับตัวได้ หมายถึง จับได้โดยไม่มีการเริ่มสอบสวนมาก่อน
(ข) จับตัวยังไม่ได้ หมายถึง  ขณะเริ่มทำการสอบสวนยังจับตัวไม่ได้
ถ้าทำความเข้าใจเช่นนี้และจดจำได้การวินิจฉัยจะง่ายและรวดเร็ว

เทคนิคในการทำข้อสอบ ม.๑๙ ป.วิอาญา ที่สามารถทำให้นักศึกษาตอบข้อสอบได้เร็ว ถ้าเป็นข้อสอบปรนัย สามารถตอบได้ภายในเวลา ๓๐ วินาที  คือ
๑.  หาคำว่า ร้องทุกข์  แจ้งความ  หรือคำที่หมายถึงการเริ่มการสอบสวน แล้วขีดเส้นใต้ชื่อ สน. นั้นได้
๒. หาคำว่า  จับตัวได้  แล้วขีดเส้นใต้ชื่อ สน.นั้นไว้ 

กรณีนี้เป็นกรณี ที่มีการเริ่มทำการสอบสวนก่อนจับตัวได้ ใช้ (ข)  ให้เลือกข้อที่มีชื่อ สน.ที่รับคำร้องทุกข์เป็นคำตอบ
ถ้าไม่มีชื่อ สน.ที่รับคำร้องทุกข์  มีแต่ สน.ที่จับตัวได้ กรณีนี้เป็นกรณีตาม (ก) ให้เลือกชื่อ สน.ที่จับตัวได้เป็นคำตอบ

.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1204/2542

จำเลยขับรถยนต์กระบะบรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คันของกลาง มุ่งออกจากจังหวัดปราจีนบุรีจะข้ามไปฝั่งประเทศกัมพูชา แล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวง อำเภอกบินทร์บุรี ตรวจค้นและควบคุมตัวไว้ เมื่อทราบว่าผู้เสียหายได้แจ้งความ ไว้แล้วที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางว่ารถจักรยานยนต์ ของกลางถูกยักยอกไป เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปางจึงเดินทางไปร่วมจับกุมจำเลยกับ เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงอำเภอกบินทร์บุรี ดังกล่าวเมื่อผู้เสียหายเดินทางมาที่ทำการตำรวจทางหลวง อำเภอ กบินทร์บุรี ตรวจดูรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดไว้ แล้วยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้เสียหาย จึงชี้ให้จับกุมจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางกับพวก ได้ร่วมจับกุมจำเลยและได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นสัญญาบัตรของตำรวจทางหลวงและ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางร่วมจับกุมด้วย จึงถือว่าจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอ เมืองลำปางจับกุมโดยชอบแล้วและการที่จำเลยกับพวกร่วมกัน บรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คัน ของกลางบนรถยนต์กระบะ เดินทางมาเขตอำเภอกบินทร์บุรีเพื่อจะนำไปจำหน่ายยังประเทศกัมพูชาก็เป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19(3) ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอ เมืองลำปางซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้อง กับเหตุที่เกิด ทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปางเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยกับพวกในท้องที่ อำเภอกบินทร์บุรีด้วย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในการสอบสวนตามมาตรา 19 วรรคสาม(ข) เพราะเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อนโดยเริ่มสอบสวนตั้งแต่ ยังจับตัวจำเลยกับพวกไม่ได้ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยกับพวกถูกจับกุมที่ท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีก็ตามก็หาทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางพ้นจากเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่ จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม(ก) ดังนี้พนักงานอัยการโจทก์จึงฟ้องจำเลยกับพวกที่ศาลจังหวัดลำปางได้ โดยถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 120
จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว  ยาวแค่ไหน ตอบได้ไม่เกิน สามสิบวินาที คือ สภอ.เมืองลำปาง

ถ้าเป็นกรณีที่ ไปแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้ง ไม่ถือว่า เป็นพนักงานสอบสวนที่พบการกระทำความผิดก่อน  ท้องที่ใด รับแจ้ง  ท้องที่นั้นพบการกระทำความผิดก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2548

ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับอาในเขตท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จำเลยพรากผู้เสียหายไป พาผู้เสียหายไปพักและกระทำชำเราผู้เสียหายในหลายท้องที่ต่างกัน จึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ และความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) (3) (6) และวรรคสอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้
พ. อาของผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140, 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อ ท้องที่ สน. บางเขน ไม่รับคำร้องทุกข์ จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่พบการกระทำความผิดก่อน  แต่ สภต. คูคต รับแจ้ง จึงเป็นพนักงานสอบสวนที่พบการกระทำความผิดก่อน


.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3466/2547

กรณีที่เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวน ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ชัดแจ้งว่าเหตุในคดีนี้เกิดในท้องที่ใดแน่ ระหว่างอำเภอบัวใหญ่ กับอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดดังกล่าวย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ แต่ตามวรรคสาม (ก) ของมาตรา 19 ดังกล่าวระบุว่า พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยถูกจับได้ที่อำเภอแก้งสนามนาง โดยมีสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ กับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่อีกหลายนายเป็นผู้ร่วมจับกุม พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ คือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก้งสนามนาง มิใช่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เป็นผู้สรุปสำนวนและ ทำความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องจำเลยคดีนี้ แล้วส่งสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ก็ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามฎีกานี้  ยังไม่มีการร้องทุกข์มาก่อนจับกุม ใช้ (ก)  เมื่อ  จำเลยถูกจับได้ที่อำเภอ แก้งสนามนาง  พนักงานสอบสวน  อำเภอ แก้ง สนามนางจึงมีอำนาจสรุปสำนวน รับผิดชอบการสอบสวน  มิใช่  พนักงานสอบสวน  สภอ.บัวใหญ่

หมั่นฝึกทำแบบฝึกหัดให้คล่อง โดยนำคำพิพากษาฎีกามาฝึกทำ ต่อไปจะตอบได้รวดเร็วและแม่นยำ

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เขตอำนาจสอบสวนตามมาตรา ๑๙ วรรคแรก




เขตอำนาจสอบสวนตามมาตรา ๑๙ วรรคแรก

การที่นักศึกษาจะใช้มาตรา  ๑๙  ในการวินิจฉัยได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ความผิดเกิดขึ้นฺในหลายท้องที่  ไม่ใช่กรณีความผิดเกิดขึ้นในท้องที่หนึ่ง  หรืออ้างว่าได้เกิด  เชื่อว่าได้เกิดในท้องที่หนึ่ง และผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับในอีกท้องที่หนึ่งตามมาตรา ๑๘   ความผิดเกิดขึ้นในหลายท้องที่มีได้กรณีตามมาตรา  ๑๙  ดังนี้ 
มาตรา 19 ในกรณีดั่งต่อไปนี้ 
(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดใน ระหว่างหลายท้องที่ 
(2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่มีอีกส่วนหนึ่ง ในอีกท้องที่หนึ่ง 
(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกัน ในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป 
(4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน 
(5) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง 
(6) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง 

อธิบาย
(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดใน ระหว่างหลายท้องที่ 
เป็นกรณีการกระทำความผิดไม่แน่ชัดว่าเกิดในท้องที่ใดกันแน่  (แต่มิใช่ความผิดต่อเนื่องตาม (๓))   เช่น  จำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปเก็บเงินลูกหนี้ในจังหวัดเชียงใหม่  เพื่อนำกลับมาส่งผู้เสียหายที่กรุงเทพ  แต่จำเลยกลับยักยอกเงินไปเสีย  เป็นการไม่แน่ชัดว่า จำเลยทำการยักยอกทรัพย์ในท้องที่จังหวัดใด  พนักงานสอบสวนทุกท้องที่ที่เกี่ยวข้องในระหว่างการเดินทางกลับกรุงเทพจากเชียงใหม่  มีอำนาจสอบสวน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1655/2530 
จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม มีหน้าที่เก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ร่วมที่อยู่ต่างจังหวัดแล้วส่งมอบให้โจทก์ร่วมซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก จำเลยรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ร่วมในอีกท้องที่หนึ่งแล้วไม่ส่งมอบให้โจทก์ร่วม จึงเป็นการไม่แน่ว่าจำเลยทำการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรักจึงมีอำนาจสอบสวน. 


ความสับสนไม่แน่ใจของพนักงานสอบสวนไม่ใช่กรณีไม่แน่ว่าความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดที่จะทำให้พนักงานสอบสวนทุกท้องที่มีอำนาจสอบสวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2549
เหตุ คดีนี้เกิดในพื้นที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบ สวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ มิได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดซึ่ง ได้เกิดขึ้นในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าเป็นกรณีพยานโจทก์ผู้จับกุมไม่แน่ใจว่าการกระทำผิด อาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายความเฉพาะเมื่อสภาพการกระทำผิดอาญานั้นเองเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัว ว่า เป็นการไม่แน่ว่ากระทำขึ้นในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบ สวน มิได้หมายความถึงกรณีที่ตัวพนักงานสอบสวนหรือผู้จับกุมสับสนในเรื่องพื้นที่ เขตอำนาจของตนเสียเอง ทั้งที่เป็นการแน่นอนแล้วว่าความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญยังขืนสอบสวนความผิดนี้ การสอบสวนนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน เมื่อยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

(2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่มีอีกส่วนหนึ่ง ในอีกท้องที่หนึ่ง 
กรณีความผิดที่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นในท้องที่หลายท้องที่  แต่ละท้องที่มีองค์ประกอบของการเกิดขึ้นของความผิดนั้น เช่น  ดำ  ยืนอยู่บนทางเท้า ฝั่งพื้นที่  สน. เอ  ยิงแดงซึ่งยืนอยู่บนทางเท้าฝั่งพื้นที่ สน. บี    ดังนั้น ทั้งสน. เอ และ บี      มีอำนาจสอบสวน เพราะถือเป็นท้องที่ๆ เป็นองค์ประกอบของการเกิดขึ้นสำหรับความผิดนั้น 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2537 แจ้งแก้ไขข้อมูล 
เมื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดที่อำเภอไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี แม้ความผิดฐานรับของโจรจะเกิดที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ก็เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อเนื่องกัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยคจึงมีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหารับของโจรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 และเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยค ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดกาญจนบุรีโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี


(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกัน ในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป 
เป็นกรณีที่ความผิดนั้นมิได้เกิดและสำเร็จในท้องที่เดียวกัน เช่น ความผิดฐานออกเช็คโดยมีเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค  เป็นความผิดที่ต่อเนื่องระหว่างท้องที่ของธนาคารผู้ออกเช็ค กับท้องที่ของธนาคารที่ทำการปฏิเสธการจ่ายเงิน  (๑๗๐๒-๑๗๐๓/๒๕๒๓  ปชญ.)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2528

การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คการออกเช็คในท้องที่ใดย่อมถือได้ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำลงในท้องที่นั้นต่อเนื่องกับการกระทำผิดในท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อื่น ถือว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญาในท้องที่ดังกล่าวต่อเนื่องกัน เมื่อได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่มีการออกเช็คแล้ว พนักงานสอบสวนและศาลในท้องที่นั้นย่อมมีอำนาจสอบสวนและชำระคดีนี้ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยออกเช็คในท้องที่ใดและอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนที่สอบสวนคดีนี้หรือไม่ ยังไม่ได้ความแน่ชัด ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ประทับฟ้องและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจึงชอบแล้ว
ระวัง !  ในกรณีที่มีการโอนเช็คเปลี่ยนมือกันก่อนนำไปเรียกเก็บเงิน  ท้องที่ที่มีการโอนเช็คไม่ถือเป็นท้องที่ที่ความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  เช่น  ดำ  สั่งจ่ายเช็คให้แดงหรือผู้ถือ  ที่เขตท้องที่  สน.บางนา  แดงนำเช็คฉบับดังกล่าวโอนชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าให้เขียว ในเขตท้องที่  สน.บางพลัด  เขียวนำเช็คไปเรียกเก็บยังธนาคารถุงทอง  สาขาบางเขน  ธนาคารถุงทองสาขาบางเขนปฏิเสธการจ่ายเงิน  ท้องที่ที่มีอำนาจสอบสวนได้แก่ ท้องที่ สน.บางนา และ บางเขน  ส่วนบางพลัด  ท้องที่ๆ มีการโอนเช็คเปลี่ยนมือไม่มีอำนาจสอบสวน  (๖๕๐/๒๕๒๘)
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ต้องหาเพื่อเรียกค่าไถ่  เป็นความผิดต่อเนื่องกันไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2526

จำเลยกับพวกบังคับหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายชาวมาเลเซียเพื่อเรียกค่าไถ่ และบังคับให้ผู้เสียหายขับรถไปส่งยังชายแดนประเทศไทยซึ่งน่าจะได้ควบคุมเข้าไปในเขตแดนไทยด้วย เพราะภูมิลำเนาของจำเลยกับพวกอยู่ในราชอาณาจักรจึงเป็นความผิดต่อเนื่องทั้งในและนอกราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ซึ่งจับจำเลย จึงมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยได้

(4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน 
บางครั้งในการกระทำครั้งหนึ่ง อาจมีเจตนาหลายเจตนา กระทำลงในวาระต่างๆ กัน  แต่ละวาระ แต่ละกรรม  กระทำลงในท้องที่ต่างกัน  ทุกท้องที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3430/2537

จำเลยถูกกล่าวหาตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เหตุเกิดท้องที่ สภ.อ.เมืองนราธิวาส ปรากฏว่าจำเลยได้ไปแจ้งความที่ สภ.อ.สุไหงโก-ลก ว่าเช็คที่จำเลยถูกดำเนินคดีหายไป ซึ่งเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ และฉ้อโกง พนักงานสอบสวนสภ.อ. เมืองนราธิวาส ย่อมมีอำนาจสอบสวนจำเลยเกี่ยวกับความผิดฐานแจ้งความเท็จ และฉ้อโกงได้ เพราะจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19(4) และโจทก์ย่อมฟ้องรวมในฟ้องเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 ทั้งความผิดฐานแจ้งความเท็จ มีอัตราโทษเบากว่าความผิดฐานฉ้อโกง และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรมต่างสถานที่ แต่ก็ได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกัน และเป็นความผิดเกี่ยวพันกันซึ่งจะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 24 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ โดยไม่ต้องขอผัดฟ้องพร้อมกับความผิดฐานฉ้อโกง และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้

(5) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง 
นายดำกับพวกเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพไปเชียงใหม่    ระหว่างการเดินทาง นายดำกับพวกร่วมกันเล่นการพนันอันเป็นความผิดตาม พรบ.การพนัน  พนักงานสอบสวนทุกท้องที่ ที่รถไฟแล่นผ่านมีอำนาจสอบสวน

(6) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง 
นายเขียวเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพไปเชียงใหม่  นายเขียวถูกนายขาวลักทรัพย์บนรถไฟ 
พนักงานสอบสวนทุกท้องที่ ที่รถไฟแล่นผ่านมีอำนาจสอบสวน

ถึงแม้ว่า พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนจะมีหลายท้องที่ก็ตาม แต่การสรุปสำนวนส่งฟ้อง ต้องได้กระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจรับผิดชอบการสอบสวนตามมาตรา  ๑๙ วรรคสาม (ก) และ (ข)  เท่านั้น   ติดตามอ่านในบทความต่อไป

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวน ม.๑๘ วรรค ๓


http://natjar2001law.blogspot.com/2012/02/blog-post_25.html
เขตอำนาจสอบสวน ม.๑๘ วรรคแรกและวรรคสอง

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวน

ในกรณีที่การสอบสวนได้กระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจสอบสวนตามมาตรา  ๑๘ วรรคแรกและวรรคสอง  มีมากกว่าหนึ่งท้องที่  (กรณีความผิดเกิด อ้างว่าได้เกิด หรือเชื่อว่าได้เกิด หรือพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ )  เช่น  แดงกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่ท้องที่ สน.บางเขน  แต่มาหลบซ่อนตัวและถูกจับที่  สน.ดอนเมือง  ทั้ง สน.บางเขน และ สน.ดอนเมืองมีอำนาจสอบสวน  สน.บางเขนได้ดำเนินการรับแจ้งความและเริ่มสอบสวนแล้ว  มีการออกหมายจับ  และจับตัวนายแดงได้ที่ เขตดอนเมือง โดยเจ้าพนักงานตำรวจ สน.ดอนเมือง  เมื่อจับตัวได้  สน.ดอนเมืองได้ทำการสอบสวน  แต่สุดท้ายแล้ว พนักงานสอบสวนที่จะมีอำนาจสรุปสำนวนส่งฟ้อง (รับผิดชอบการสอบสวน) จะต้องเป็น พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ความผิดนั้นได้เกิดคือ  สน.บางเขน  เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อความสะดวก  จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่ อยู่หรือถูกจับ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน
มาตรา ๑๘ วรรคสาม 
ภาใต้บังคับแห่งบทบัญญัติใน มาตรา 19 มาตรา 20 และ มาตรา 21 ความผิดอาญาได้เกิดในเขตอำนาจพนักงานสอบสวนคนใด โดย ปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้น เป็นผู้รับผิดชอบในการ สอบสวนความผิดนั้น ๆ เพื่อดำเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือ เพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่ อยู่หรือถูกจับ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9239/2547

เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในซอยบ่อนไก่ ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพียงท้องที่เดียว สถานที่ที่จำเลยถูกจับกุมภายหลังการกระทำความผิดซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน หาใช่ท้องที่ที่เกิดการกระทำความผิด
ด้วยไม่ เมื่อที่เกิดเหตุอยู่ใน
เขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีจึงมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 วรรคสาม