วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การรับฟังพยานหลักฐาน 1 ประเภทของพยานหลักฐาน

ในการพิจารณาคดีของศาลนั้น ศาลพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏต่อศาล โดยที่ศาลมิได้รู้ได้เห็นเกี่ยวกับเรื่องพิพาท แต่สามารถตัดสินคดีได้จากพยานหลักฐาน ที่ปรากฏตามท้องสำนวน และการนำสืบของคู่ความ เมื่อศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว เห็นเป็นอย่างไร จึงจะได้พิพากษาไปตามพยานหลักฐาน ในการเขียนคำพิพากษา ศาลจึงใช้คำว่า “เชื่อได้ว่า” เชื่อได้ว่านั้นหมายถึง เชื่อจากพยานหลักฐาน มิใช่เชื่อจากความรู้สึกของตนเอง และคำๆ นี้ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาเก่าๆ มิใช่เพิ่งมาใช้ในยุคสมัยปัจจุบันแต่อย่างใด ไม่มีคำพิพากษาฉบับไหนที่ไม่ใช้คำว่า เชื่อได้ว่า หรือถ้อยคำอื่นใดในทำนองเดียวกับคำว่า "เชื่อได้ว่า" ทั้งคดีที่โด่งดังทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีซุกหุ้น 1 ที่อดีตนายกทักษิณหลุดรอดได้ ก็เพราะคำว่า “เชื่อได้ว่า” และคดีซุกหุ้น 2 ที่ไม่รอดก็ใช้คำว่า “เชื่อได้ว่า” เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 3409/2529 ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าโจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับที่ถูกรางวัลที่ 3 ดังกล่าว และบุตรสาวโจทก์ได้นำไปเผาไฟจริง "ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลจากจำเลยหรือไม่ ปัญหานี้ก็พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขไว้ในสลากกินแบ่งทุกฉบับว่า เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับนั้น เงื่อนไขดังกล่าวแม้จำเลยจะกำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ก็ตาม แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพียงเพื่อให้จำเลยมีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัลเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากสูญหายหรือถูกไฟไหม้ ดังเช่นกรณีนี้ และเห็นว่าการที่จำเลยจัดให้มีการออกสลากกินแบ่ง ก็โดยที่วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งว่า จะแบ่งเงินที่ได้จากการขายสลากให้แก่ผู้ถูกสลากตามจำนวนที่กำหนดไว้ จำนวนเงินที่กำหนดนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาอันมีผลผูกพันระหว่างผู้จัดการออกสลากกินแบ่งกับผู้ถูกรางวัลดังนั้นเมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่า โจทก์ถูกรางวัล แต่สลากถูกไฟไหม้ดังวินิจฉัยข้างต้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัลจากจำเลย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2543
แม้ผู้คัดค้านจะไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าผู้ร้องมิได้มีสัญชาติไทยแต่ภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ย่อมตกแก่ผู้ร้องที่ต้องนำสืบห้ศาลเชื่อได้ว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดในประเทศไทย เมื่อปรากฏว่าสูติบัตรที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องมิได้อยู่ที่ผู้ร้อง แต่เป็นเอกสารที่นายทะเบียนท้องถิ่นรับรองสำเนาถูกต้องเนื่องจากผู้ร้องไปขอคัดมา แสดงว่าพยานหลักฐานดังกล่าวผู้ร้องมาแสวงหาจากในประเทศไทยเท่านั้น ผู้ร้องไม่ได้แสดงสำเนาทะเบียนบ้านที่อ้างว่าได้ไปค้นแต่ไม่พบซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงไม่พบสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว และผู้ร้องไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานที่แสดงการเรียนในโรงเรียนหลายแห่งที่อ้างถึง ส่วนภาพถ่ายที่อ้างว่าถ่ายเมื่ออายุ 13 ปีนั้น ก็ไม่มีการนำสืบทางนิติเวชให้น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน

พยานของผู้ร้องคงมีแต่พยานบุคคลทั้งสิ้น ซึ่งต่างไม่ได้พบผู้ร้องมาเป็นเวลานานและเบิกความถึงข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่แตกต่างกันและขัดกันหลายอย่าง

จากคดีนายพูลผล ศาลไม่เคยรู้จักพ่อแม่นายพูลผล ขณะที่นายพูลผลยื่นคำร้อง นายพูลผลอายุ 63 ปี แล้ว ศาลไม่เคยเห็นว่านายพูลผลเกิดจากท้องพ่อท้องแม่ในแผ่นดินไทยหรือไม่ การที่นายพูลผลอ้างว่าตนได้สัญชาติไทยโดยการเกิด นายพูลผลต้องมีหลักฐานหรือพยานยืนยัน ตามกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน ศาลจะเชื่อตามพยานหลักฐานเท่านั้น

พยานหลักฐาน หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่แสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏแก่ศาล ไม่ว่าจะเป็น พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ ตลอดจนคำเบิกความความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ รายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากบทนิยามและความหมายของพยานหลักฐานแล้ว เราสามารถแยกประเภทของพยานหลักฐานออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. พยานบุคคล หมายถึง คำให้การของบุคคลที่มาให้การต่อศาลด้วยวาจา ต่อหน้าศาล หรือต่อ

หน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และรวมถึง พยานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ที่เราเรียกว่า พยานผู้เชี่ยวชาญ (ใช้ในคดีแพ่ง) หรือ พยานผู้ชำนาญการพิเศษ (ใช้ในคดีอาญา) อันที่จริงคือพยานบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องนั่นเอง เช่น แพทย์ วิศวะกร เป็นต้น เพียงแต่กฎหมายบัญญัติเรียกชื่อไว้ต่างกัน จึงสมควรใช้เสียให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ อย่าใช้ผิดหรือปะปนกัน

พยานบุคคลนี้ยังแบ่ง ออกเป็นประจักษ์พยาน และพยานบอกเล่า สำหรับคำพยานของพยานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ถูกแยกออกมาไม่เอามารวมด้วยกับประจักษ์พยาน หรือพยานบอกเล่า

ประจักษ์พยาน ในอดีต (ปรากฏตามพระอัยการลักษณภญาณ แห่งกฎหมายตราสามดวง) เรียกว่า สักขี คือ ผู้ได้รู้ได้เห็น ได้ยินมาด้วยตนเอง หรือกล่าวง่ายๆ คือ ได้ยินกับหู ได้เห็นกับตา ในเหตุการณ์นั้นๆ

พยานบอกเล่า คือ พยานบุคคลที่ได้ยินเรื่องราวมาอีกทอดหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยินกับหู หรือได้เห็นกับตา

2. พยานเอกสาร หมายถึง ข้อความใด ๆ ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรหรือรูปรอยใดที่สามารถ

ใช้เป็นเครื่องหมายแทนคำพูด เพื่อให้เข้าใจข้อความ หรือตามความหมายนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะบันทึกด้วยการเขียน พิมพ์ แกะสลัก บนวัสดุใด ๆ เช่น กระดาษ ผ้า โลหะ ก็ได้

3. พยานวัตถุ (วัตถุพยาน) หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่สามารถจะให้ศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่

ตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี โดยจำลองวัตถุต่างๆ เช่น ภาพถ่ายสถานที่พิพาท หรือภาพถ่ายที่เกิดเหตุ

ในส่วนของพยานบุคคล พิจารณาได้ไม่ยากนักว่า อะไรคือประจักษ์พยาน อะไรคือพยานบอกเล่า แต่ในส่วนของพยานวัตถุ กับพยานเอกสารนั้น พิจารณายากที่จะแยกให้ชัดเจน

ในชั้นนี้ ขอให้หลักในการแยกระหว่างพยานเอกสารและพยานวัตถุ คือ พยานชิ้นใด ที่ใช้พิสูจน์ความหมายคือพยานเอกสาร พยานชิ้นใดที่ใช้พิสูจน์ความมีอยู่คือพยานวัตถุ ที่จะต้องแยกให้ชัดเจน เพราะเวลานำสืบพยานจะมีกฎหมายบัญญัติว่า ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่จะใช้เป็นพยานได้ ดังนั้นหากเป็นวัตถุพยาน ก็ไม่จำต้องใช้ต้นฉบับ และไม่ต้องส่งสำเนาให้แก่คู่ความ

ลองดูตัวอย่าง

ภาพถ่ายห้องเช่าเป็นพยานวัตถุ เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่ของห้องเช่า โดยจำลองมาเป็นภาพถ่าย แม้จะเป็นกระดาษ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่เป็นกระดาษจะเป็นพยานเอกสาร สาระสำคัญมิได้อยู่ตรงนั้น

รูปถ่ายคน เป็นพยานวัตถุ เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่ของบุคคล ไม่ได้สื่อความหมายอย่างใดๆ เลย

โพยหวย เป็นพยานวัตถุ เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่จริงของการกระทำความผิดตาม พรบ. การพนัน

ท่อนไม้ที่มีข้อความว่า นายดำ กู้เงินนายขาวจำนวน 2,000 บาท ลงลายมือชื่อนายดำ ท่อนไม้ดังกล่าวเป็นพยานเอกสาร เพราะใช้พิสูจน์ความหมายว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมตามกฎหมายหรือไม่

ป้ายที่ใช้ในการชุมนุมที่มีข้อความหมิ่นประมาท เป็นพยานเอกสาร เพราะใช้พิสูจน์ในประเด็นที่ว่า ข้อความดังกล่าวนั้นหมิ่นประมาทหรือไม่

คำถาม

1. ภาพถ่ายศพผู้ตาย เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

2. เทปบันทึกเสียง นายดำและนายขาว ที่บันทึกการตกลงซื้อขายสินค้ากัน เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

3. ภาพถ่ายกำแพงบ้านที่มีข้อความว่า “อีขาว มึงเป็นชู้กับผัวชาวบ้าน สันดานชั่ว” เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

4. แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี (เดิมเรียกว่าแผ่นป้ายวงกลม) ของปลอม เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

5. ธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อยาเสพติด ที่มีการทำตำหนิไว้ เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

6.พนักงานสอบสวน ที่ทำการสอบสวนคดีที่ฟ้อง เป็นพยานบุึึคคลประเภทใด เพราะเหตุใด

ความรับผิดทางอาญา ตอนที่ 2 องค์ประกอบภายนอกของความผิด

องค์ประกอบภายนอกของความผิด

เมื่อได้พิจารณาว่ามีการกระทำแล้ว ประตูแห่งความรับผิดทางอาญาจึงจะเปิดออก ส่วนจะมีความรับผิดหรือไม่มีความรับผิดอย่างใดนั้น ต้องพิจารณาทีละเรื่อง ไล่พิจารณาไปอย่าข้ามขั้นตอน

การพิจารณาเรื่ององค์ประกอบภายนอกของความผิดนั้น เป็นการพิจารณาความรับผิดอันดับแรก เมื่อเกิดการกระทำความผิดอาญาขึ้น ต้องพิจารณาที่ตัวบทกฎหมายเสียก่อน แล้วนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาปรับด้วยองค์ประกอบความผิดต่างๆ เช่น

ดำ ยิง แดง ซึ่งนอนหลับอยู่ เมื่อยิงถูกแดงแล้ว ดำหนีไป ปรากฏข้อเท็จจริงว่า แดงได้หัวใจวายตายไปก่อนหน้าที่ดำจะยิงแดงแล้ว ดำจะมีความรับผิดอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาตามลำดับดังนี้

.1. มีการกระทำหรือไม่

การที่ดำยกปืนขึ้นเล็งยิงแดงและได้ยิงแดงออกไปนั้น ดำมีการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับแล้ว ดำจึงมีการกระทำแล้ว

2.. ครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดหรือไม่

มาตรา 288 บัญญัติว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ

หลักในการพิจารณาองค์ประกอบความผิดนี้ แยกพิจารณาเป็นสามส่วนได้แค่ ประธาน กริยา กรรม ถ้าทั้งสามส่วนนี้มีครบตามที่กฎหมายบัญญัติ คือครบองค์ประกอบความผิด

1. ประธานในมาตรา 288 นี้ได้แก่ ผู้ใด

2. กริยาในมาตรา 288 นี้ได้แก่ ฆ่า

3. กรรมในมาตรา 288 นี้ได้แก่ ผู้อื่น

ดำ เป็นผู้ใดหรือไม่

ปัญหานี้ ตอบได้ชัดเจนว่า ดำเป็นผู้ใด เพราะผู้ใดหมายถึงตัวผู้กระทำเอง เป็นผู้ ใดตามนัยยะของกฎหมายทั้งสิ้น

ยิง เป็นการฆ่าหรือไม่ แนวคำพิพากษาศาลฎีกาวางหลักไว้คร่าวๆ ว่า การยิง เป็นเจตนาฆ่า (ส่วนจะมีเจตนาฆ่าหรือทำร้าย ค่อยว่ากัน ยังไปไม่ถึง)

แดง เป็นผู้อื่นหรือไม่ ผู้อื่นหมายถึง ผู้ใดก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเรา และต้องมีสภาพบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 15 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก สิ้นสุดลงเมื่อตาย

การที่ดำยิงแดงในขณะที่แดงตายไปแล้ว สภาพบุคคลของแดงจึงสิ้นสุดไปแล้ว จึงไม่มีผู้ใด ดังนั้น องค์ประกอบความผิดในข้อกรรมนี้ขาดไป

วินิจฉัยได้ว่า ดำไม่มีความผิด เพราะขาดองค์ประกอบความผิด เมื่อพิจารณาได้ว่าขาดองค์ประกอบความผิดแล้ว หยุดเลย ไม่ต้องวินิจฉัยเรื่องอื่นต่อไป จบได้เลย สรุป ไม่มีความผิด

ในเรื่องนี้กฎหมายของไทยแตกต่างจากกฎหมายอาญาฝรั่งเศส ศาลฎีกาฝรั่งเศส วินิจฉัยกรณีนี้ไว้ว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ โดยอาศัยเจตนาร้ายของผู้กระทำความผิดเป็นหลักสำคัญ

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว กรณีนี้ไม่ถือเป็นความผิด เพราะเหตุขาดองค์ประกอบความผิด

องค์ประกอบความผิดที่ต้องอาศัยคุณสมบัติเฉพาะ บางอย่างของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำด้วย

เช่น มาตรา 136* ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

องค์ประกอบความผิดแยกได้ดังนี้

1. ประธานในมาตรานี้ ได้แก่ ผู้ใด

2. กริยาในมาตรานี้ ได้แก่ ดูหมิ่น

ส่วนขยายกิริยาในมาตรานี้ได้แก่ ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

3. กรรมในมาตรานี้ ได้แก่ เจ้าพนักงาน

ดังนี้ การกระความผิดตามมาตรานี้ ต้องได้กระทำต่อเจ้าพนักงานเท่านั้น กระทำการดูหมิ่นต่อบุคคลธรรมดาไม่ผิดมาตรานี้ (แต่ผิดมาตราอื่น) และการดูหมิ่นนั้นต้องได้ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่เช่น ด่าทอตำรวจในขณะปฏิบัติหน้าที่สายตรวจ หรือด่านตรวจค้น เป็นต้น

หรือเพราะได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เช่น ด่าทอตำรวจที่ออกเวรแล้ว กำลังนั่งทานอาหาร แต่เรื่องที่ด่านั้นเป็นเรื่องในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ดำ ด่า ร.ต.ต.ขาว ซึ่งออกเวรแล้ว ขณะกำลังรับประทานอาหาร ว่า “ไอ้หมวดตำรวจเฮ็งซวย มึงแกล้งจับลูกกู แกล้งไม่ให้ประกันตัว” เป็นต้น เพราะแม้ออกเวรแล้ว แต่เรื่องที่ดูหมิ่นนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับหน้าที่ แต่ถ้าด่าทอในเรื่องส่วนตัว เช่น “ไอ้หมวดขาว มึงคิดว่ามึงหล่อหรือ มึงแย่งแฟนกู” อันนี้ไม่ผิดมาตรานี้ เพราะการแย่งแฟนผู้อื่นหรือไม่ หล่อหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่


คำถาม

1. มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ประกอบด้วยองค์ประกอบความผิดใดบ้าง

2. นายสุข ต้องการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวทุกข์ จึงพากันไปจดทะเบียนสมรสที่อำเภอ เมื่อถึงขั้นตอนที่นายทะเบียนสอบถามว่า เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนหรือไม่ นายสุข ตอบว่า ไม่เคย ทั้งๆ ที่ความจริง นายสุขเคยจดทะเบียนสมรสกับ นางพอใจมาก่อนและยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน ให้วินิจฉัยว่า นายสุขมีความผิดตามมาตรา 137 หรือไม่ เพราะเหตุใด

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มุมมอง-ใหม่เมืองเอก: อธิบายอย่างง่าย กรณีขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร! ไทยจะเสียดินแดนจริงหรือ?

http://akelovekae.blogspot.com/2010/08/3.html

มุมมอง-ใหม่เมืองเอก: อธิบายอย่างง่าย กรณีขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร! ตอน2

มุมมอง-ใหม่เมืองเอก: อธิบายอย่างง่าย กรณีขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร! ตอน2

มุมมอง-ใหม่เมืองเอก: อธิบายกรณีเขาพระวิหารอย่างง่าย 3

มุมมอง-ใหม่เมืองเอก: อธิบายกรณีเขาพระวิหารอย่างง่าย 3

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อย่าสะใจแค่ปลายนิ้ว หมิ่นประมาททางอินเตอร์เนต 3 เขตอำนาจสอบสวน

ในกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณานั้น สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้หลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องลำบากในการเดินทางไปเพื่อรับข้อกล่าวหาและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนจนถึงกระบวนการยุติธรรม โดยมีหลักกฎหมายสนับสนุนดังนี้

เขตอำนาจสอบสวนตาม ป.วิอาญามาตรา 18

มาตรา 18 ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัด ธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และ ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่า นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้

สำหรับในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี ให้ข้าราชการตำรวจ ซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหา มีที่อยู่ หรือถูกจับ ภายในเขตอำนาจ ของตนได้

ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติใน มาตรา 19 มาตรา 20 และ มาตรา 21 ความผิดอาญาได้เกิดในเขตอำนาจพนักงานสอบสวนคนใด โดย ปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้น เป็นผู้รับผิดชอบในการ สอบสวนความผิดนั้น ๆ เพื่อดำเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือ เพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่ อยู่หรือถูกจับ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน

ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน การดำเนินการ สอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้า ในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทน

ปัญหาที่จะต้องนำมาทำความเข้าใจ คือ คำว่า ความผิดที่ เกิด อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดนั้นคืออะไร

ในการจะทราบเรื่องความผิด เกิด อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดนั้น เราจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี กันในข้อหาใด เช่น หากคดีที่ต้องการดำเนินคดีเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ท้องที่ที่ทรัพย์นั้นถูกลักไปเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิด เช่น
นายดำ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอยุธยา แต่มาทำงานที่บ้านนายแดงที่กรุงเทพ เขตบางเขน แล้วได้ลักเอาทรัพย์จากบ้านนายแดงไป ดังนั้น สน.บางเขนจึงเป็นสถานีตำรวจที่มีเขตอำนาจการสอบสวน นายตำรวจดังกล่าว (ร้อยเวร) สามารถดำเนินการสอบสวนได้

หากความผิดที่จะดำเนินคดีเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เช่น
นายดำมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดธนบุรี ล่อลวง ด.ญ.แดง จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านบางนา ไปข่มขืนกระทำชำเราที่โรงแรมย่านดอนเมือง ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราจึงเกิดในเขต สน.ดอนเมือง สน.ดอนเมืองมีอำนาจวินิจฉัย

ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น เช่น
ดำ ให้แดงดื่มยาพิษที่บ้านของแดงซึ่งอยู่ในเขต สน.ดอนเมือง ต่อมา แดงถูกนำส่งโรงพยาบาลประชาชื่น ในเขต สน.ประชาชื่น แล้วถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล สน.ประชาชื่นไม่มีอำนาจสอบสวน เพราะการถึงแก่ความตายนั้นเป็นผลของความผิด มิใช่ท้องที่ที่ความผิดเกิด หากแต่ สน.ดอนเมืองอันเป็นสถานที่ที่วางยาพิษต่างหากเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิด สน.ดอนเมืองจึงมีอำนาจสอบสวน
เป็นไปได้หรือไม่ที่ความผิดหนึ่ง จะเกิดขึ้นได้ในหลายท้องที่ ขอตอบว่าเป็นไปได้ เช่น

ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่มีการทำลงในสื่อต่างๆ เช่น ข่าวหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงในอินเตอร์เนตที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศด้วย เราเรียกความผิดดังกล่าวว่า "ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา" ซึ่งองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายสารบัญญัติ จะเป็นความผิดต่อเมื่อ ข้อความหมิ่นประมาทนั้นได้ล่วงรู้ถึงบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก หากโทรศัพท์ไปหมิ่นกันเอง ไม่มีการล่วงรู้ถึงบุคคลที่สามจะไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดังนั้น การหมิ่นประมาททางสื่อต่างๆ จึงล่วงรู้ถึงบุคคลที่สามไปทั่วประเทศ ทุกจังหวัดที่หนังสือพิมพ์ไปวางขาย ทุกจังหวัดที่สัญญาณวิทยุโทรทัศน์ไปถึง ทุกจังหวัดที่มีการเปิดอินเตอร์เนตเข้ารับข้อความ ดังนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจึงเกิดไปได้ทั่วประเทศ ทุกจังหวัดและทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศไทย จึงเป็นสถานีตำรวจที่มีเขตอำนาจสอบสวน

การเข้ารับการสอบสวนต้องได้กระทำในท้องที่ที่ผู้เสียหายเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเดินทางเข้ามอบตัวและรับการสอบสวนยังท้องที่ที่มีการร้องทุกข์ได้ทั่วประเทศไทย หากสถานีตำรวจใดบอกปัดไม่รับคำร้องทุกข์อ้างว่าไม่ใช่เขตอำนาจ ขอให้ท่านนำโนตบุคไปเปิดเข้าระบบอินเตอร์เนตให้พนักงานสอบสวนได้อ่านในสถานตำรวจนั้น ความผิดก็จะเกิดขึ้นได้ที่นั่นทัน

คำถามสำหรับท่านที่สนใจ

นายดำมีภูมิลำเนาอยู่ เขตท้องที่ สน.วังทองหลาง จ้างนายแดง มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตท้องที สน.หัวหมาก มายิงนายขาวซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ สน. อุดมสุข นายแดงมายิงนายขาวที่หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา นายขาวถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิตในเขตดอนเมือง นายขาวทนพิษบาดแผลไม่ไหว ถึงแก่ความตายขณะนำส่งโรงพยาบาล ในนาทีที่รถวิ่งถึงบางเขน ซึงอยู่ในเขตอำนาจ สน.บางเขน

ให้วินิจฉัยว่า ท้องที่ใดเป็นท้องที่ๆ มีอำนาจสอบสวนกรณีนี้

อย่าสะใจแค่ปลายนิ้ว หมิ่นประมาททางอินเตอร์เนต 2 ตอนผู้เสียหาย


ตอนที่ 1

ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวใส่ความถึง เป็นผู้เสียหายโดยตรง หากไม่ใช่ผู้ถูกหมิ่นประมาทถึงแล้ว ไม่อาจจะเป็นผู้เสียหายได้ เว้นแต่เป็นกรณีผู้เสียหายนั้นไม่อาจร้องทุกข์ดำเนินคดีเองได้จึงจะสามารถให้บุคคลตามที่กฎหมายระบุไว้ เป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจจัดการแทนได้
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจ จัดการแทนได้ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6
มาตรา 4 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิ ฟ้องคดีได้เอง โดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน
ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 5 (2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทน ภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่ง ได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิด อาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะ จัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิด ซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น

มาตรา 6 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดย ชอบธรรมหรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถ ไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตาม หน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์ เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้
เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ซึ่งยินยอมตาม ที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน
ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี
ตัวอย่าง
นายสุข หมิ่นประมาทนายทุกข์บนกระดานสนทนาในเว็บบอร์ดการเมือง แต่นายทุกข์อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยได้ ปัญหาว่า บุตรของนายทุกข์จะสามารถร้องทุกข์ หรือฟ้องร้องดำเนินคดีแก่นายสุขได้หรือไม่
จากนิยามของความเป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญามาตรา 2 (4)

ผู้เสียหายนั้น หมายถึง ผู้เสียหายที่แท้จริง หากมีการหมิ่นประมาท นายทุกข์ คนที่จะเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงคือ นายทุกข์เท่านั้น

ผู้เสียหายที่มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิอาญามาตรา 5

มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่ง ได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
ผู้ที่จะสามารถจัดการแทนได้ตามอนุมาตรานี้ คือ ผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อ นายทุกข์ไม่ใช่ผู้เยาว์ จึงไม่อยู่ในบังคับความหมายนี้
ผู้อนุบาล เมื่อนายทุกข์ไม่ใช่บุคคลวิกลจริตจนศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วตั้งผู้อนุบาล จึงไม่อยู่ในบังคับความหมายนี้
ผู้ไร้ความสามารถ เมื่อนายทุกข์ไม่ใช้ผู้ไร้ความสามารถหรือหย่อนความสามารถที่พรรคเพื่อได้เป็นผู้ดูแล จึงไม่อยู่ในความหมายนี้


(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิด อาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะ จัดการเองได้
ผู้สืบสันดานนี้ ถือเอาตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นบุตรของผู้ตายก็สามารถดำเนินคดีได้ แต่ในกรณีนี้ นายทุกข์มิได้ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการแทนได้ บุตรของนายทุกข์จึงไม่สามารถดำเนินคดีแทนนายทุกข์ได้

(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิด ซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
กรณีมิใช่เรื่องของนิติบุคคลจึงไม่อยู่ในบังคับของอนุมาตรานี้
ติดตามตอนสุดท้าย ที่

อย่าสะใจแค่ปลายนิ้ว หมิ่นประมาททางอินเตอร์เนต 1 หมิ่นประมาททางอินเตอร์เนต ผิดกฎหมาย

เรื่องของการหมิ่นประมาทในอินเตอร์เนตนี้ มักเป็นคดีความเกิดขึ้นตามเว็บบอร์ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักระหว่างเพื่อนในเนต หรือบอร์ดการเมืองที่มีความร้อนแรง
การติดตามตัวผู้กระทำความผิดนั้น ไม่ยากอย่างที่คิด จึงอย่าได้คิดว่า ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร เราอยู่บ้านเรา ใครจะมาตามเราเจอ ไม่เช่นนั้น บิลค่าน้ำ่ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และที่สำคัญ ค่าิอินเตอร์เนตคงจะไปถึงท่านไม่ได้ หากเป็นการเล่นตามเนตคาเฟ่ กฎหมายบังคับให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด และบางร้าน ต้องลงทะเบียนด้วย จึงไม่เป็นการเหลือวิสัยที่จะติดตามเอาผิดกันได้
เรื่องการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เนตนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยมีข้อกฎหมายสนับสนุนดังนี้
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 วางหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การหมิ่นประมาทคืออะไร

จากหลักกฎหมายมาตรา 326 การหมิ่นประมาทประกอบด้วยองค์ประกอบความผิดภายนอก คือ

1. การใส่ความ หมายถึง การพูดจาให้ร้ายผู้อื่น ด้วยลักษณะการยืนยันข้อเท็จจริงในสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น พูดว่า ดำเป็นชู้กับแดง การเป็นชู้กันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หรือ ดำโกงเงินแดง การโกงเงินกันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็แต่ถ้าพูดว่า แดงถูกผีสิง แดงเป็นผีปอบ เป็นผีบ้า อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่เข้าลักษณะการใส่ความ

2. ผู้อื่น หมายถึง ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเรา

3. ต่อบุคคลที่สาม หมายถึง หูคู่ที่สอง นอกจากหูของเรา เช่น ดำพูดกับแดงว่า หนึ่งและสองเป็นชู้กัน ดังนี้ หูของแดงเป็นหูคู่ที่สองที่ได้ยินถ้อยคำใส่ความ

ข้อความอย่างใดเป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท
ข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริง การแสดงความคิดเห็นในลักษณะการยืนยันข้อเท็จจริงมีลักษณะเป็นหมิ่นประมาทได้ทั้งสิ้น เช่น กล่าวหาว่าเขาเป็นเมียน้อย กล่าวหาว่าเขาเป็นชู้กัน หรือใช้ถ้อยคำพิเศษที่แสดงออกมาได้ว่า เป็นการใส่ความ เช่น ใช้คำว่า ไอ้เสี่ยบ้ากาม อีสาวก้นแฉะ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นผู้ชอบกามคุณอันผิดวิสัย หรือพูดให้ร้ายว่าเขาเป็นกระหรี่ เป็นลูกระหรี่ กล่าวหาตุลาการว่าใช้อำนาจโดยไม่ชอบและพิจารณาคดีไม่เป็นธรรม เหล่านี้ถือเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาททั้งสิ้น

ถ้อยคำที่ ไม่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท คือถ้อยคำที่ไม่ได้ยืนยันในข้อเท็จจริง และไม่มีลักษณะที่จะเป็นไปได้ตามกล่าวเบื้องต้น เช่น ด่าว่า อ้ายครูชาติหมาสอนเด็กชกต่อยกัน ครูเป็นคนไม่มีวันเป็นชาติหมาไปได้ จึงไม่มีลักษณะถ้อยคำที่เป็นไปได้ แต่ถ้าด่าซึ่งหน้าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นคนละฐานความผิดกัน

หน้าผีเปรต อันนี้คนไม่มีวันจะหน้าเป็นเปรตไปได้ และไม่มีใครเคยเห็นว่าหน้าเปรตเป็นอย่างไร จึงไม่ใช่ลักษณะการใส่ความหมิ่นประมาท

หน้าเหี้ย คนไม่มีวันจะหน้าเหมือนเหี้ยไปได้ จึงไม่มีลักษณะเป็นหมิ่นประมาท (เช่น(ชื่อนักการเมือง) หน้าเหี้ย) พูดอย่างไรก็ไม่ผิดหมิ่นประมาท อย่างไรก็ดี ถ้อยคำดังกล่าวหากได้กล่าวต่อหน้าบุคคลนั้น จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าอันเป็นลหุโทษ
การหมิ่นประมาทนั้น หากได้กระทำลงบนกระดานสนทนา ทางอินเตอร์เนต จะมีโทษหนักขึ้นเพราะถือเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามมาตรา 328

การหมิ่นประมาทนั้น หากได้กระทำลงบนกระดานสนทนา ทางอินเตอร์เนต จะมีโทษหนักขึ้นเพราะถือเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามมาตรา 328

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
อายุความ
เมื่อปรากฎพบว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทขึ้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจะต้องดำเนินคดีภายในกำหนดอายุความดังนี้
มาตรา 96 ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
หมิ่นประมาทเป็นความผิดอันยอมความกันได้ มีอายุความสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เช่น มีข้อความหมิ่นประมาทเราในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553 เราพบข้อความในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553 และเรารู้ตัวผู้หมิ่นประมาท คือผู้ที่โพสท์ข้อความ แม้จะเป็นเพียงนามแฝงก็ตาม โดยไม่ต้องไปรู้ถึงว่าเป็นใครหน้าตายังไง อายุความที่เราจะต้องร้องทุกข์ ภายในสามเดือน นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2553 นับไปสามเดือน วันสุดท้ายคือวันที่ 5 มิถุนายน 2553 ถ้าวันสุดท้ายติดเสาร์อาทิตย์ ไม่เลื่อนออก เพราะโรงพักไม่มีวันหยุดราชการ
ในการหมิ่นประมาทบนเว็บบอร์ด ที่มีการเขียนกระทู้ต่างๆ การนับกรรมของการกระทำความผิดไม่ใช่นับตามจำนวนกระทู้ แต่นับตามจำนวนความเห็นที่ได้แสดงออกไป เช่นดำแสดงความเห็นหมิ่นประมาทด่าทอแดง 10 ความเห็น กรรมของการกระทำความผิดนับตามความเห็น กรณีเป็นการกระทำความผิดต่า งกรรมต่างวาระ โดยบทลงโทษจะเรียงกระทงความผิด คือ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท มีกี่กระทงเอาคูณเข้าไป
ดังนั้น อย่าคิดว่า นั่งหน้าคอมด่าทอ หมิ่นประมาทผู้อื่นแล้วจะไม่มีความผิด เพราะในโลกแห่งความจริงหรือโลกไซเบอร์ ไม่ต่างกันในเรื่องของความรับผิดทางกฎหมาย

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ต่อตอนที่ 2 การเสียสิทธิสภาพนอกอณาเขต

ควรอ่านเรื่องนี้ก่อน เพื่อความต่อเนื่อง


ในสมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยได้ติดต่อทำการค้าและมีไมตรีกับชาวต่างชาติมากขึ้น ประเทศมหาอำนาจในทางการค้า และด้านการทหาร คงหนีไม่พ้นประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส แม้กระทั่งประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศศูนย์กลางอำนาจทางการค้า ยังต้องพ่ายแพ้ให้แก่ประเทศอังกฤษจนต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงให้แก่ประเทศอังกฤษไป
การล่มสลายของประเทศจีนในครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งสร้างความลำบากพระทัยให้แก่ในหลวงรัชกาลที่ 4 เป็นอย่างมาก ด้วยจีนนั้นเป็นประเทศที่ไทยเองยังยอมส่งบรรณาการให้ แต่กลับมาพ่ายแพ้แก่ฝรั่งอั้งม้อ คือประเทศอังกฤษ ทำให้ไทย จำต้องเดินหน้าเข้าสู่วงจรอำนาจของประเทศอังกฤษด้วยการทำสนธิสัญญาเบาวริ่ง ดูเหมือนจะเป็นการผูกมิตรเพื่อให้การค้านำการรบประเทศไทยจึงยังคงเป็นเอกราชมาได้โดยไม่ถูกยึดดินแดนเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

อันที่จริงสนธิสัญญาเสรีทางการค้านั้น มิได้เพิ่งมาริเริ่มทำกันในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ก่อนหน้านี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้เคยมีการทาบทามเพื่อทำสัญญาการค้าเสรีแล้ว แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะทำการค้าอย่างเสรีด้วยเห็นว่า สยามจะเสียเปรียบฝรั่ง แต่เมื่อประเทศจีนยังแพ้แก่อังกฤษในสงครามฝิ่น ประเทศสยามจึงต้องจำยอมที่จะทำสัญญาการค้าเสรีกับอังกฤษ ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชินีแห่งอังกฤษได้ส่ง เซอร์จอห์น เบาริ่ง เข้ามาทำสนธิสัญญาการค้าเสรี จึงสามารถตกลงกันได้สำเร็จ และตั้งชื่อสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง”
นอกจากข้อตกลงเรื่องการค้าในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งแล้ว ยังมีข้อตกลงที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในกรณีคนในบังคับของอังกฤษกระทำความผิดในประเทศไทยไม่ต้องขึ้นศาลไทย แต่ให้ขึ้นศาลกงสุลของประเทศอังกฤษแทน นับว่าเรื่องนี้นำความขมขื่นใจมาสู่คนไทยเป็นอย่างมาก หากคนในบังคับอังกฤษมาทำการปล้นฆ่า ข่มขืนคนไทย แต่กลับไม่ต้องถูกพิพากษาและลงโทษตามกฎหมายไทยโดยศาลไทย ทำให้ประเทศไทยเสียอำนาจอธิปไตยทางศาลอย่างรุนแรง ต่อมา สนธิสัญญาเบาว์ริงได้กลายเป็นแม่แบบของการที่ประเทศอื่น เข้ามาทำสัญญาแบบเดียวกันอย่างรวดเร็ว มีทั้งหมด 14 ประเทศที่ทำสนธิสัญญากับสยามตามลำดับ

1856 สหรัฐอเมริกา

1856 ฝรั่งเศส

1858 เดนมาร์ค

1859 โปรตุเกศ

1860 เนเธอร์แลนด์

1862 เยอรมนี

1868 สวีเดน

1868 นอรเวย์

1868 เบลเยี่ยม

1868 อิตาลี

1869 ออสเตรีย-ฮังการี

1870 เสปน

1898 ญี่ปุ่น

1899 รัสเซีย

ปัญหานี้ ยังความขมขื่นพระราชหฤทัยแก่พระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างมาก จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ดำเนินการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ โดยเสด็จเยือนประเทศต่างๆ เพื่อกระชับไมตรี และทรงส่งพระราชโอรสไปร่ำเรียนยังต่างประเทศเพื่อให้รู้ถึงขนบธรรมเนียมของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศไทย พระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระโอรสในเจ้าจอมมารดาตลับ ได้ถูกส่งไปเรียนกฎหมายยังประเทศอังกฤษ สภาพบ้านเมืองตอนนั้น สยามประเทศ เป็นที่หมายตาของนาๆ ประเทศ ดีที่ว่า พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพผูกไมตรีกับนาๆ ประเทศไว้แล้ว จึงไม่มีประเทศใดกล้าหักหาญน้ำใจแย่งชิงแผ่นดินไทยได้ แต่อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ก็ใช้อุบายยึดเอาสิบสองจุไทยของเราไปได้เป็นแห่งแรก และนำมาซึ่งการเสียดินแดนอีกหลายแห่งเป็นลำดับต่อมา รวมถึงการเสียแหลมมาลายูให้แก่อังกฤษด้วย

ผลจากการเสียดินแดน ทำให้คนที่เคยอยู่ในบังคับของศาลไทย ย้ายไปอยู่ในบังคับของศาลกงสุลอังกฤษและฝรั่งเศส การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางศาลยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ความวุ่นวายในการศาลของบ้านเมืองยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้น เมื่อพระราชโอรสได้เสด็จกลับมาจากการเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ จึงทรงปรึกษากับพระราชโอรสและพระเจ้าน้องยาเธอทบทวนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และยอมรับว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นล้าหลังและป่าเถื่อนไม่เหมือนกับนาๆ อารยะประเทศ จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ปรับปรุงกฎหมายเสียใหม่ ในครั้งนั้น ทรงลำบากพระทัยในการเลือกระบบกฎหมายว่าจะใช้ คอมมอนลอว์แบบอังกฤษ หรือซีวิลล์ลอว์แบบฝรั่งเศสดี พระราชโอรสซึ่งทรงร่ำเรียนกฎหมายมาจากอังกฤษมีความชำนาญในด้านกฎหมายอังกฤษมากกว่า ทรงเสนอให้เลือกกฎหมายแบบอังกฤษ แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีคำพิพากษาที่จะนำมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อให้เป็นกฎหมายได้อย่างประเทศอังกฤษ ทั้งการสั่งสมคำพิพากษาแต่ละคดีจนเป็นกฎหมายได้นั้น ต้องใช้เวลานาน จึงทรงเลือกใช้ประมวลกฎหมายแบบอย่างประเทศฝรั่งเศส และไม่มีวิธีการอื่นใดที่จะทำได้เร็วไปกว่าการ “ลอก” กฎหมายของประเทศที่ใช้ซิวิลล์ลอว์อยู่ก่อนแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายที่ประกอบด้วยนักกฎหมายไทยและต่างประเทศทำการร่าง (หรือบางทีอาจจะเรียกว่าลอก แต่มิใช่ลอกทั้งหมด เพียงแต่ใช้เป็นแม่แบบ) กฎหมายของประเทศต่างๆ เช่น ประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ซึ่งสามารถทำการร่างเสร็จภายในเวลาเพียง 11 ปี

ในด้านการศึกษากฎหมายไทย พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (พระบิดา) ได้ทรงเปิดโรงเรียนกฎหมาย และทรงทำหน้าที่เป็นครูด้วยพระองค์เอง โรงเรียนกฎหมายนั้น ปัจจุบันคือ เนติบัณฑิตไทย ผลิตนักกฎหมายไทยอย่างมีคุณภาพ

ในด้านวิธีพิจารณาคดี ในหลวงทรงเลือกแบบของอังกฤษ รวมถึงระบบศาลเดี่ยวแบบอังกฤษด้วย เหตุที่พระราชโอรสทรงจบจากประเทศอังกฤษ เรียนรู้และเข้าใจระบบศาลของอังกฤษ และระบบวิธีพิจารณาแบบอังกฤษได้เป็นอย่างดี ทำให้ประเทศไทยใช้ระบบวิธีพิจารณาแบบกล่าวหา คู่กับระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ ซึ่งมีลักษณะผิดฝาผิดตัว นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ด้วยการแก้ปัญหาโดยวิธีเลือกใช้ระบบกฎหมายแบบฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสและประเทศซีวิลลอว์ ยอมรับและไม่มีปัญหาในด้านกฎหมายและศาลกับประเทศไทยอีกต่อไป ส่วนในด้านระบบวิธีพิจารณาและระบบศาล การเลือกแบบอังกฤษ ทำให้ประเทศอังกฤษพอใจและยอมรับระบบกฎหมายและระบบศาลของประเทศไทย นับแต่นั้นมา สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของประเทศต่างๆ จึงสิ้นสุดไป ต่างพากันยอมรับกฎหมายและการวินิจฉัยคดีของศาลไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ความรู้ทางประวัติศาสตร์ เรื่องระบบกฎหมายและระบบวิธีพิจารณา 1

การปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช กล่าวคือ กษัตริย์เป็นใหญ่ เป็นผู้มีสิทธิขาดในการลงอาญาแก่ปวงประชา ดังนั้น คำสั่งของกษัตริย์ในสมัยนั้นจึงเป็นกฎหมายที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม สภาพสังคมจึงเป็นสังคมในระบบศักดินา แบ่งเป็น 4 ชนชั้น ได้แก่
เจ้า
ขุน , มุนนาย
ไพร่
ทาส
ตำแหน่งกษัตริย์ถือเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นเจ้าของทุกอย่าง ทำให้เกิดการแย่งชิงราชบัลลังค์กันอย่างมากตลอดกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ปรากฏพบในสมัยกรุงสุโขทัย เพราะกรุงสุโขทัย ตำแหน่งกษัติรย์เป็นตำแหน่งที่ถือเสมือนหัวหน้าครอบครัว ไม่ใช่สมมุติเทพผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบกรุงศรีฯ ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงต้องเถลิงพระราชอำนาจด้วยการออกกฎหมาย เพื่อบังคับแก่ประชาชน การออกกฎหมายจึงถือเป็นการแสดงถึงแสนยานุภาพของพระองค์ด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กฎหมายกรุงศรีอยุธยามีมากเหลือเกิน และกฎหมายในหลายบทมีความซ้ำซ้อนกัน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงออกกฎหมายใหม่แต่ก็ไม่ได้แก้หรือยกเลิกกฎหมายเดิม ทำให้กฎหมายกรุงศรีฯ มีความยุ่งยากในการใช้พอสมควร

กล่าวถึงระบบวิธีพิจารณาคดีในสมัยกรุงศรีนั้น เป็นการดำเนินวิธีพิจารณาแบบไต่สวนด้วยหลักการและวิธีคิดเช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุเพราะอำนาจการพิจารณาพิพากษาเป็นของกษัตริย์ซึ่งถือเสมือนเทพ และได้ใช้อำนาจผ่านตระลาการ(ตระลาการนี้ ไม่ใช่ ศาล หรือผู้พิพากษา หรือตุลาการในปัจจุบัน แต่หมายถึงบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด หากกฎหมายจะหมายถึงผู้พิพากษาก็จะเขียนจำเพาะไปเลยว่า ผู้พิพากษา คำว่า ตระลาการ กับ ตุลาการในปัจจุบันจึงไม่ใช่คำที่มีความหมายเดียวกัน)

ในสมัยกรุงศรีฯ พราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้ถือพระราชสาตรและพระธรรมศาสตร์ (กฎหมาย) ซึ่งต่อมาเรียก "ลูกขุน" ลูกขุนในความหมายนี้ มิใช่ลูกขุนในความหมายของ jury หากแต่เป็นผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของพระมหากษัตริย์ หากเราดูหนังจักรๆ วงศ์ๆ เราจะเห็นพรามณ์ปุโรหิต เข้าเฝ้าทูลเรื่องนั้นเรื่องนี้ และปรึกษาข้อราชการต่างๆ กับพระมหากษัตริย์ตลอดเรื่อง
ต่อมาเมื่อพระราชอาณาจักร ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นมาก ความคดีต่างๆ เกิดขึ้นตามพื้นที่ๆ ขยายออกไป จึงตั้งเป็นจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ขึ้น บรรดาคดีความต่าง ๆ แยกออกไปชำระตามอำนาจของจตุสดมภ์ หน้าที่ของลูกขุนเหลืออยู่แต่การพิจารณาปรับบทกฎหมายในคำถวายฎีกา และเป็นที่ปรึกษาในราชการที่พระเจ้าแผ่นดิน เท่านั้น

การชำระความในหัวเมืองเป็นอำนาจของเจ้าเมือง ดังนั้น เจ้าเมืองและผู้รักษาเมืองต่าง ๆ จึงมีอำนาจสูงสุดในเมืองนั้น การจะเอาผิดแก่ เจ้าเมืองและผู้รักษาเมืองนั้นจะต้องนำมาร้องฟ้องถึงเมืองหลวง สุดปัญญาที่คู่ความผู้เป็นประชาชนธรรมดาจะทำได้ ด้วยเกรงกลัวต่ออำนาจของเจ้าเมือง ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงทรงแต่งตั้ง ยกกระบัตร ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณในทางคดีความไปคอยสอดส่อง ดูแลอยู่ในเมืองนั้น ตำแหน่งนี้ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเคยดำรงตำแหน่งยกกระบัตรเมืองราชบุรีมาแล้ว จึงทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านกฎหมาย เพราะเป็นผู้รู้จริง ปฏิบัติจริง

ปรากฏหลักฐานตาม พระราชกำหนดเก่า กฎหมายตราสามดวง ความว่า
“อนึ่งราษฎรพลเมืองมีกิจศุขทุกขสิ่งใดมาร้องฟ้องแก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการด้วยเนื้อความสิ่งใด ๆ ก็ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมืองนั้น รับเอากิจศุขทุกขร้องฟ้องของราษฎร ซึ่งร้องฟ้องข้อนี้กะทงนี้เปนแต่เนื้อความสาเร่ว่า ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการณะเมืองนั้น จะพิจารณาว่ากล่าวให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้นตามพระทำนูนได้ ก็ให้กรมการพิจารณาตามกระทรวงให้สำเรจ์ณะเมืองนั้น ถ้าโจทจำเลยติดใจแก่กรมการผู้เปนกระลาการไต่ถาม ถ้าเมืองเอกให้กรมมหาดไทจัตุสดมแลสัศดีผู้ได้ว่าอุธรนครบาล แลแพ่งนอกกระลาการเบิดเอาเนื้อความนั้นไปว่ากล่าวไต่ถามตามพระทำนูนตามสัจตามจริงให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้น ๆ ถ้าเมืองตรีเมืองจัตวาให้ปลัดยุกระบัดนอกกระลาการ เบิกเอาไปว่าตามเนื้อความนั้นถ้าโจทจำเลยติดใจปลัดยุกรบัตร ให้ผู้รักษาเมืองผุ้รั้งบังคับให้กรมการนอกนั้นเอามาว่ากล่าวตามเนื้อความซึ่งโจทจำเลยติดใจกันนั้น ถ้าโจทจำเลยติดใจผู้รักษาเมืองผู้รั้งแลปลัดยุกระบัตรกรมการทังนั้น มิเตมใจให้ว่าเนื้อความสืบไป ให้ร้องฟ้องแก่กรมการซึ่งมิได้เปนกระลาการ ให้บอกหนังสือนำฟ้องโจทจำเลยเข้าไปว่ายังศาลา ประการหนึ่งว่าเนื้อความผู้ร้องฟ้องนั้นเปนเนื้อความวิปริตต่าง ๆ พ้นที่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการจะว่ากล่าว ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมืองจะว่ากล่าว ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการปฤกษาพร้อมกันเหนเนื้อความฃองราษฎรฟ้องเปนข้อใหญ่ พ้นที่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการจะว่ากล่าวให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้นมิได้ ก็ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการบอกหนังสือเข้าไปตามกฎให้ไว้นี้”

ในจดหมายเหตุของลาลู แบร์ ยังได้กล่าวถึงการชำระความในสมัย กรุงศรีอยุธยา และหน้าที่ของยกระบัตรไว้ว่า "...ในเบื้องต้นโจทก์จะต้องไปหากรมการที่ปรึกษา อันเป็นเจ้าหมู่มูลนายตนก่อนหรือไม่ก็ไปหาเจ้าหมู่มูลนายในหมู่บ้านของตน แล้วคนผู้นี้ก็ไปหาเจ้าหมู่มูลนายที่ เป็นกรมการที่ปรึกษาอีกต่อหนึ่ง เพื่อยื่นคำฟ้องและกรมการที่ปรึกษา ก็นำไปต่อเจ้าเมืองนั้นก็คือต้องพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนว่าควรจะสั่งให้รับ ฟ้องหรือยกฟ้องนั้น หากคำพิพากษานั้นมีอาการว่าไม่เป็นไปตาม ทางยุติธรรมไซร้ ก็เป็นหน้าที่ของยกกระบัตรหรืออัยการแผ่นดินจะ บอกกล่าวเตือนให้ศาลทราบไว้.."
วิธีการพิจารณาและพิพากษาคดีตามแบบกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งตั้งกระทรวงยุติธรรม ร.ศ.110 (พ.ศ.2434) จึงมีการเปลี่ยนแปลง เป็นการใช้บุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้พิพากษาและตระลาการกลุ่มหนึ่ง และพราหมณ์ซึ่งเชี่ยวชาญวิชา นิติศาสตร์เรียกว่า “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” มี 12 คน อีกกลุ่มหนึ่ง โดย “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” นี้ ทำหน้าที่ชี้บทกฎหมายเนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์ แต่จะบังคับบัญชาอย่างใดไม่ได้ อำนาจการบังคับบัญชาทุกอย่างอยู่กับผู้พิพากษาตระลาการ

ถ้าใครจะฟ้องความจะเขียนเป็นหนังสือฟ้องไม่ได้ ต้องไปร้องต่อจ่าศาลว่าประสงค์จะฟ้องความเช่นว่านั้น ๆ จ่าศาลจดถ้อยคำลงเป็นหนังสือแล้วมอบให้พนักงานประทับฟ้องนำขึ้นปรึกษาลูกขุน ณ ศาลหลวง ว่าเป็นฟ้องต้องตามกฎหมายควรรับพิจารณาหรือไม่ ถ้าลูกขุนเห็นว่าควรรับ พนักงาน ประทับฟ้อง ก็หารือลูกขุนอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นกระทรวงศาลใดที่จะพิจารณา แล้วส่งฟ้องกับตัวโจทก์ไปยังศาลนั้น

ปรากฏหลักฐานตาม พระราชกำหนดใหม่ กฎหมายตราสามดวง ความว่า


“ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าผู้มีคดีจะร้องฟ้องกฎหมายแลทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวายไซ้ ห้ามอย่าให้เฃียนหนังสือฟ้องใบฎีกาคำกฎไปยื่นดุจหนึ่งแต่ก่อนเปนอันขาดทีเดียว ถ้าแลผู้มีคดีจะว่าเนื้อความสิ่งใด ให้เข้าไปยังลูกขุนศาลาแลลูกขุนณสาลหลวงมีคำเจรจาว่า ข้าพเจ้าจะฟ้องกฎหมาย ถ้าจะฟ้องลูกขุนณศาลา ให้ไปเจรจาแก่จ่าศาลาแลขุนดาบทังสี่ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งอยู่เวน นำเอาตัวผู้จะว่าความเฃ้าไปให้การต่อหน้าลูกขุนณศาลา ถ้าผู้มีคดีจะไปฟ้องกฎหมายยังลูกขุนณสานหลวง ให้ขุนสีธรรมราชแลจ่าสาน นำเอาตัวความไปเขียนเอาคำฟ้องคำกฎหมาย ต่อหน้าลูกขุน....”

ต่อจากนั้นตระลาการก็จะหมายเรียกตัวจำเลยมา ถามคำถามให้การแล้วส่งคำให้การไปปรึกษาลูกขุนให้ชี้ 2 สถาน คือว่าข้อใดรับกันในสำนวนและข้อใดจะต้องสืบพยาน ตระลาการจึงไปสืบพยานตามคำลูกขุน ครั้นสืบเสร็จแล้วก็ส่งสำนวนไปยังลูกขุน เพื่อชี้ขาดว่าฝ่ายไหนแพ้คดี เพราะเหตุใดตระลาการก็นำคำพิพากษาไปส่งผู้ปรับ ผู้ปรับวางโทษว่าควรปรับ โทษเช่นนั้น ๆ ส่งให้ตระลาการไปบังคับ

ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยการจับศึกตลอดรัชกาลจึงไม่พบว่ามีการออกกฎหมายใหม่ๆ มาใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีจึงยังคงใช้ตามแบบกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 1 กฎหมายนั้นก็ยังคงใช้กฎหมายที่หลงเหลือมาจากกรุงศรีอยุธยา กฎหมายที่หลงเหลือมานั้นมีเพียง 1 ใน 10 ส่วน ถูกเผาไปเสีย 9 ส่วน แต่ก็ได้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ตามคำบอกกล่าวขอผู้มีความรู้ทางกฎหมายที่ยังมีชีวิตรอดจากการเสียกรุง ได้อาศัยความทรงจำนำกฎหมายมาเล่าบอกและให้เขียนขึ้นมาใช้ใหม่ตามคำบอกเล่านั้น

จนกระทั่ง เกิดคดีฟ้องหย่าเรื่องหนึ่ง ซึ่งอำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรีสามี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลได้พิพากษาตามตัวบทกฎหมายเก่าบทหนึ่งซึ่งมีความว่า "ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้"

นายบุญศรีได้นำเอาคดีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงเห็นด้วยว่าคำพิพากษาขัดต่อหลักการยุติธรรมและเมื่อเอาตัวบท กฎหมาย ที่ศาลยกขึ้นอ้างดังกล่าวมาตรวจสอบดู 3 ฉบับ โดยกฎหมายในสมัยก่อนนั้นไม่มีการแพร่หลายออกไปให้ประชาชนได้อ่านได้รู้ ด้วยเป็นของสูงจึงมีเพียง 3 ฉบับ ที่เก็บรักษาไว้สามที่ ฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดของหลวง ฉบับหนึ่งเก็บไว้ที่ศาลหลวง อีกฉบับหนึ่งเก็บไว้ข้างพระที่ของพระมหากษัตริย์ อีกฉบับหนึ่ง ปรากฎว่ามีข้อความตรงกัน จึงทำให้เห็นว่าตัวบทกฎหมายนี้มีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อาจถูกคนดัดแปลงแต่งเอาตามใจชอบทำให้บทพระอัยการวิปราศฟั่นเฟือน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำการชำระสะสางบรรดาตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่แล้ว ประกาศใช้ใหม่ โดยประทับตรา พระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" บังคับใช้แทนกฎหมายกรุงศรีเดิม

จากที่ดำเนินเรื่องราวมาเบื้องต้น ทำให้เห็นได้ว่า การดำเนินคดีในศาลยังคงใช้วิธีการไต่สวน ในระบบไต่สวนอยู่
ในส่วนของกฎหมายนั้น การลงโทษ หรือลงพระราชอาญานั้น เป็นการลงโทษตามจารีตนครบาล โดยเลียนแบบการลงโทษในนรก ซึ่งนับเป็นความโหดร้ายทารุณและน่ากลัวอย่างมาก เป็นมหันตโทษ เรียกว่า เทวะดึงษกรรมกร เป็นโทษหนักตามพระอัยการกระบดศึก ได้แก่

สถาน หนึ่ง ให้ต่อยกระบาลให้ศีรษะแยกออก แล้วเอาคีมคีบก้อนเหล็กที่เผาไฟจนแดงใส่ลงไปให้มันสมองพลุ่งฟูขึ้น
สถาน หนึ่ง ให้ตัดเพียงหนังที่หน้าจดปากจดหูจดคอแล้วให้มุ่นกระหมวดผมเอาไม้ท่อนสอด ใช้คนโยกข้างละคน เอาหนังและผมออกแล้วจึงเอากรวดทรายหยาบขัดกระบาลศีรษะ ชำระให้ขาวสะอาดเหมือนพรรณสีสังข์(คือให้มีสีขาวเหมือนสีของหอยสังข์)
สถาน หนึ่ง เอาขอเกี่ยวปากไว้ แล้วเอาประทีปตามไว้ในปาก หรือไม่ก็เอาสิ่งคมๆแหวะหรือผ่าปากจนถึงใบหูทั้ง2ข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าไว้
สถานหนึ่ง ให้เอาผ้าชุบน้ำมัน พันทั้งกายแล้วเอาเพลิงจุด
สถานหนึ่ง ให้เชือดเนื้อเป็นริ้วๆตั้งแต่ใต้คอจนถึงข้อเท้าแล้วผูกเชือกฉุดคร่าตีด่า ให้เดินเลียริ้วเนื้อหนังของตนจนกว่าจะตาย
สถานหนึ่ง ให้เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกข้อเข่า แล้วเอาหลักเหล็กสอดตรึงไว้กับพื้นดิน แล้วเอาเพลิงลนให้รอบจนกว่าจะตาย
สถานหนึ่ง ให้เอาเบ็ดใหญ่ 2 คม เกี่ยวเพิกเนื้อหนังเอ็นใหญ่เอ็นน้อยให้หลุดขาดออกมาจนกว่าจะสิ้นมังสา
สถาน หนึ่ง ให้เอามีดที่มีคมเชือดเนื้อให้ตกออกมาจากกายทีละตำลึงจนกว่าจะสิ้นมังสา
สถาน หนึ่ง ให้แล่และสับฟันทั่วร่างกาย แล้วเอาแปลงหวีชุบน้ำแสบกรีดขุดลอกหนังและเนื้อกับเอ็นเล็กเอ็นน้อยออกให้ สิ้น ให้เหลือแต่กระดูก
สถานหนึ่ง ให้เอาน้ำมันเดือดๆราด รดสาดลงมาแต่ศีรษะ จนกว่าจะตาย
สถานหนึ่ง ให้เอาฝูงสุนัขซึ่งกักขังไว้ให้อดอยาก กัดทึ้งเนื้อหนังร่างกายกินให้เหลือแต่กระดูก
สถานหนึ่ง ให้เอาขวานฝ่าอกทั้งที่เป็นเหมือนแหกโครงเนื้อ
สถานหนึ่ง ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ จนกว่าจะตาย
สถานหนึ่ง ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอวแล้วเอาฟางปกลงคลอกด้วยเพลิง พอหนังไหม้ก็ให้เอาเหล็กไถให้เป็นริ้วเล็กริ้วใหญ่ ท่อนเล็กท่อนใหญ่

ส่วนโทษอาญาทั่วไปก็ไม่ได้น้อยหน้า เป็นโทษหนักเช่น ทวนด้วยลวดหนัง (เฆี่ยน) ตัดตีนสินมือ (ตัดมือตัดเท้า) เป็นต้น การลงโทษด้วยวิธีการเหล่านี้ใช้มาเรื่อยๆ ทำให้ต่างชาติเห็นประเทศไทยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน


คำว่า ระวางโทษขั้นสูง และ ระวางโทษขั้นต่ำ

คำว่าระวางโทษขั้นสูงและระวางโทษขั้นต่ำ แม้จะไม่มีเนื้อหาที่จะต้องทำความเข้าใจเยอะมากมายนัก แต่นับว่ามีความสำคัญเพราะเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนในระดับสูงต่อไป โดยเฉพาะเมื่อต้องเรียนวิธีพิจารณาคดีอาญา

คำว่าระวางโทษ ต่างกับคำว่าโทษที่ศาลจะลง ระวางโทษคือโทษที่กำหนดไว้ในตัวบทกฎหมาย หาใช่โทษที่ศาลได้ลงหรือจะลงแก่จำเลยไม่ เช่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบา

ดังกล่าวนี้เป็นระวางโทษ แต่ไม่ใช่โทษที่ศาลจะลง ศาลอาจจะไม่ลงตามนี้ก็ได้ แต่ศาลจะลงโทษอย่างไรก็ตาม ก็ต้องอยู่ในอัตราตามระวางโทษ

ซึ่งแบ่งเป็น ระวางโทษขั้นสูง และ ระวางโทษขั้นต่ำ

บางมาตรามีแต่ระวางโทษขั้นสูงโดยไม่มีระวางโทษขั้นต่ำ แต่บางมาตรามีทั้งระวางโทษขั้นสูงและขั้นต่ำ ระวางโทษขั้นสูงและขั้นต่ำนั้นหมายความว่าอย่างไร

ระวางโทษขั้นต่ำหมายถึง กำหนดอัตราโทษที่ระบุไว้ในกฎหมายซึ่งศาลสามารถใช้ดุลยพินิจลงต่ำกว่ากำหนดดังกล่าวไม่ได้
ระวางโทษขั้นสูงหมายถึง กำหนดอัตราโทษที่ระบุไว้ในกฎหมายซึ่งศาลสามารถใช้ดุลยพินิจลงเกินกว่ากำหนดดังกล่าวไม่ได้
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท

มาตรานี้กฎหมายกำหนดแต่เพียงระวางโทษขั้นสูงโดยไม่กำหนดระวางโทษขั้นต่ำไว้ ศาลจึงสามารถลงโทษต่ำอย่างไรก็ได้ แต่จะลงโทษสูงเกินสามปีไม่ได้

มาตรา 340 ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

มาตรานี้กฎหมายกำหนดทั้งระวางโทษขั้นต่ำ และระวางโทษขั้นสูง โดยระวางโทษขั้นต่ำมีกำหนดไม่ต่ำกว่าสิบปี และระวางโทษขั้นสูงมีกำหนดไม่เกินกว่าสิบห้าปี ศาลจึงสามารถลงโทษได้ตั้งแต่ สิบปี แต่ไม่เกิน สิบห้าปี จะลง สิบสองปี สิบสามปีก็ทำได้